พระราชบัญญัติ
กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมอำเภอ
พ.ศ. ๒๕๐๓
ในพระปรมาภิไธย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
สังวาลย์
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ให้ไว้ ณ วันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๓
เป็นปีที่ ๑๕ ในรัชกาลปัจจุบัน
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมอำเภอ
พระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมอำเภอ พ.ศ. ๒๕๐๓”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมอำเภอพุทธศักราช ๒๔๗๙
มาตรา ๔ ค่าธรรมเนียมอำเภอ ให้เรียกเก็บได้ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่ค่าธรรมเนียมที่ได้มีกฎหมายอื่นกำหนดไว้โดยเฉพาะ การคัดสำเนาและการรับรองสำเนาทะเบียนหรือเอกสารใบสำคัญให้แก่บุคคลเพื่อเข้าศึกษาในสถานศึกษาหรือเข้ารับราชการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร ให้ยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ และออกระเบียบข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ส. ธนะรัชต์
นายกรัฐมนตรี
บัญชีท้ายพระราชบัญญัติกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมอำเภอ พ.ศ. ๒๕๐๓
ลำดับ | ประเภท | จำนวน | หมายเหตุ |
บาท | สต. |
๑ | ค่าธรรมเนียมทำสัญญา (๑) สัญญาที่มีทุนทรัพย์ หนึ่งร้อยบาทแรกหรือต่ำกว่า หนึ่งร้อยบาทหลังหรือเศษของหนึ่งร้อย ร้อยละ แต่ฉบับหนึ่งไม่เกิน (๒) สัญญาที่ไม่มีทุนทรัพย์ ฉบับละ (๓) คู่ฉบับหนังสือสัญญาตาม (๑) หรือ (๒) ให้เรียกกึ่งอัตรา แต่ไม่เกินหนึ่งร้อยบาท | ๑๐ ๒ ๑,๐๐๐ ๑๐ | - - - - | |
๒ | ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนบุริมสิทธิ ทรัพยสิทธิ นิติกรรม ครั้งละ | ๑๐ | - | |
๓ | ค่าธรรมเนียมสลักหลังเปลี่ยนแก้ข้อความใน สัญญา (๑) ไม่เพิ่มทุนทรัพย์ ครั้งละ (๒) เพิ่มทุนทรัพย์ครั้งหนึ่งๆ ให้คิดค่าธรรม- เนียมตามทุนทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ ๑ (๑) และ (๓) เนียมตามทุนทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ ๑ | ๕ | - | |
๔ | ค่าธรรมเนียมตราสิน (ไม่ใช่คดีอาญา) (๑) ค่าทำตราสิน (๒) ค่าคัดสำเนาตราสิน | ๑๐ ๕ | - - | |
๕ | ค่าธรรมเนียมชัณสูตร (ไม่ใช่คดีอาญา) (๑) ค่าทำชัณสูตร (๒) ค่าคัดสำเนาชัณสูตร | ๑๐ ๕ | - - | |
๖ | ค่าธรรมเนียมอายัดทรัพย์ (ไม่ใช่คดีอาญา) (๑) ค่าอายัดทรัพย์ (๒) ค่าคัดสำเนาอายัดทรัพย์ | ๑๐ ๕ | - - | |
๗ | ค่าธรรมเนียมเบ็ดเตล็ด (๑) ค่าตรวจค้นดูทะเบียนหรือเอกสารอย่างใด ซึ่งไม่มีอัตราไว้โดยเฉพาะ ครั้งละ (๒) ค่าคัดสำเนาทะเบียนหรือเอกสารอย่างใด โดยเจ้าพนักงานเป็นผู้คัดและรับรอง ซึ่งไม่มีอัตราไว้โดยเฉพาะ หนึ่งร้อยคำแรกหรือต่ำกว่า หนึ่งร้อยคำหลังหรือเศษของหนึ่งร้อย ร้อยละ (๓) ค่ารับรองสำเนาทะเบียนหรือเอกสารใดๆ ซึ่งไม่มีอัตราไว้โดยเฉพาะ ฉบับละ (๔) บรรดาเอกสารต่างๆ ซึ่งต้องมีพยานให้ เรียกค่าพยานรายตัวพยาน จ่ายให้แก่ พยาน คนละ | ๕ ๑๐ ๑ ๑๐ ๒ | - - - - ๕๐ | |
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมอำเภอ พุทธศักราช ๒๔๗๙ ได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมอำเภอไว้ตามสภาพที่เป็นอยู่ในสมัยเมื่อประกาศใช้ ต่อมาสถานการณ์ทางการเงินเปลี่ยนแปลงไป จึงสมควรปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมอำเภอเสียใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน