ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : พระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร  พ.ศ. 2514
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร  พ.ศ. 2514

แชร์กระทู้นี้

size="2">พระราชบัญญัติ
จดทะเบียนเครื่องจักร
พ.ศ. ๒๕๑๔
                       
 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๔
เป็นปีที่ ๒๖ ในรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร เพื่อให้เครื่องจักรเป็นสังหาริมทรัพย์ที่สามารถจดทะเบียนจำนองและทำนิติกรรมอื่นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
 
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ. ๒๕๑๔”
 
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“เครื่องจักร” หมายความว่า สิ่งที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนหลายชิ้นสำหรับใช้ก่อกำเนิด พลังงาน เปลี่ยน หรือแปลงสภาพพลังงาน หรือส่งพลังงาน ทั้งนี้ด้วยกำลังน้ำ ไอน้ำ เชื้อเพลิง ลม ก๊าซ ไฟฟ้า หรือพลังงานอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันและหมายความรวมถึงเครื่องอุปกรณ์ ไฟลวีล ปุลเล สายพาน เพลา เกียร์ หรือสิ่งอื่นที่ทำงานสนองกัน
“เจ้าของ” หมายความว่า ผู้ถือกรรมสิทธิ์
“จดทะเบียนเครื่องจักร” หมายความว่า การจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรและหรือการจดทะเบียนนิติกรรมอื่นเกี่ยวกับเครื่องจักรในภายหลัง
“นายทะเบียน” หมายความว่า นายทะเบียนเครื่องจักรกลาง หรือนายทะเบียนเครื่องจักรประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า นายทะเบียน และเจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๔ เครื่องจักรใดที่จะจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ได้ตามพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๕ เครื่องจักรใดเมื่อได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้ถือว่าเป็นสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ตามมาตรา ๗๐๓ (๔) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๒๙๙ มาตรา ๑๓๐๐ และมาตรา ๑๓๐๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
มาตรา ๖ เจ้าของเครื่องจักรใดประสงค์จะจดทะเบียนเครื่องจักรให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๗ ให้จัดตั้งสำนักงานทะเบียนเครื่องจักรกลางขึ้นในกระทรวงอุตสาหกรรม มีอำนาจหน้าที่ในการจดทะเบียนเครื่องจักรทุกจังหวัดและมีหน้าที่ควบคุม สำนักงานทะเบียนเครื่องจักรประจำจังหวัดที่จะได้จัดตั้งขึ้นให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาจัดตั้งสำนักงานทะเบียนเครื่องจักรประจำจังหวัดโดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการจดทะเบียนเครื่องจักรในจังหวัดนั้น หรือจะให้มีอำนาจหน้าที่ในจังหวัดอื่นใดด้วยก็ได้
ให้มีนายทะเบียนเครื่องจักรกลางในสำนักงานทะเบียนเครื่องจักรกลางและมีนายทะเบียนเครื่องจักรประจำจังหวัดในสำนักงานทะเบียนเครื่องจักรประจำจังหวัด และให้นายทะเบียนเครื่องจักรกลางมีหน้าที่ควบคุมสำนักงานทะเบียนเครื่องจักรประจำจังหวัดด้วย
ให้นายทะเบียนเครื่องจักรกลางและนายทะเบียนเครื่องจักรประจำจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในการจดทะเบียนเครื่องจักร
 
มาตรา ๘ หลักเกณฑ์ วิธีการและแบบในการจดทะเบียนเครื่องจักรรวมตลอดถึงการประทับหรือทำเครื่องหมายการจดทะเบียนไว้ที่เครื่องจักรและการออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักร ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๙ ในการดำเนินการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสอบถามข้อเท็จจริง และให้ผู้ขอจดทะเบียนส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องหรือนำบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำได้ตามความจำเป็น ถ้ามีกรณีเป็นที่ควรเชื่อได้ว่าการขอจดทะเบียนนั้นไม่ถูกต้อง นายทะเบียนอาจปฏิเสธการขอจดทะเบียนนั้นเสียได้ โดยแจ้งเหตุที่ไม่ถูกต้องเป็นหนังสือแก่ผู้ขอจดทะเบียน
เมื่อการขอจดทะเบียนนั้นเป็นการถูกต้อง ให้นายทะเบียนออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรให้
 
มาตรา ๙ ทวิ ในกรณีที่นายทะเบียนปฏิเสธการขอจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรตามมาตรา ๙ เจ้าของเครื่องจักรมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการปฏิเสธการขอจดทะเบียนนั้น การยื่นอุทธรณ์ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
 
มาตรา ๙ ตรี เมื่อปรากฏว่าการออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรได้กระทำไปโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญ หรือปรากฏในภายหลังว่าเอกสารที่นำมาประกอบการพิจารณาจดทะเบียนไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง หรือข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในการจดทะเบียนได้เปลี่ยนแปลงไป ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรนั้นได้
ก่อนมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรให้นายทะเบียนแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของเครื่องจักรและหรือผู้มีส่วนได้เสียทราบเพื่อให้โอกาสคัดค้าน ถ้าไม่มีการคัดค้านจากบุคคลดังกล่าวภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากนายทะเบียน ให้ถือว่าไม่มีการคัดค้าน
ในกรณีที่มีการคัดค้านภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้นายทะเบียนพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำคัดค้าน ถ้านายทะเบียนไม่เห็นด้วยกับการคัดค้านให้นายทะเบียนสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรนั้นและแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้คัดค้านทราบ
ในกรณีที่ผู้คัดค้านไม่เห็นด้วยกับการสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนตามวรรคสาม ผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือจากนายทะเบียน การยื่นอุทธรณ์ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
 
มาตรา ๙ จัตวา ในกรณีที่มีการอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีตามมาตรา ๙ ทวิ หรือมาตรา ๙ ตรี ให้รัฐมนตรีพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นให้ขยายระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ได้อีกสามสิบวัน หากรัฐมนตรีไม่มีคำวินิจฉัยภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าอุทธรณ์ฟังขึ้น
คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
 
มาตรา ๑๐ ในกรณีที่หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ผู้ถือหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรยื่นคำขอรับใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรต่อนายทะเบียนที่ได้ออกหนังสือสำคัญนั้น
การขอรับและการออกใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
แบบใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรให้ใช้แบบหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักร แต่ให้ประทับตราสีแดงว่า “ใบแทน” ไว้บนด้านหน้าของหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักร
เมื่อได้ออกใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรแล้วให้หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรฉบับเดิมเป็นอันยกเลิก
 
มาตรา ๑๑ เจ้าของเครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนไว้ตามพระราชบัญญัตินี้ประสงค์จะย้ายเครื่องจักรออกไปนอกบริเวณสถานที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมที่ได้ระบุไว้ในหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักร เพื่อนำไปติดตั้ง ณ สถานที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมแห่งใหม่ หรือไปเก็บไว้ในสถานที่อื่น ให้แจ้งความประสงค์จะขอย้ายและวันที่จะย้ายเครื่องจักรเสร็จ โดยทำเป็นหนังสือแจ้งต่อนายทะเบียนก่อนวันที่จะย้ายเครื่องจักรนั้นไม่น้อยกว่าสิบห้าวันในการนี้ ให้นำหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรกับแผนผังรายการเครื่องจักรที่จะย้ายไปติดตั้งใหม่หรือไปเก็บไว้ให้นายทะเบียนตรวจสอบด้วย เมื่อนายทะเบียนเห็นชอบกับแผนผังรายการเครื่องจักรที่จะย้ายไปติดตั้งใหม่หรือไปเก็บไว้แล้ว เจ้าของเครื่องจักรจะต้องย้ายเครื่องจักรให้ตรงตามแผนผังรายการเครื่องจักรนั้นและเมื่อได้ย้ายเสร็จแล้ว ให้นายทะเบียนแก้ไขทะเบียนให้ถูกต้อง
ในกรณีที่เป็นการย้ายเครื่องจักรไปติดตั้ง ณ สถานที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมแห่งใหม่หรือไปเก็บไว้ในสถานที่อื่นที่อยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานทะเบียนต่างแห่งกัน ให้เจ้าของเครื่องจักรดำเนินการตามวรรคหนึ่ง และให้นายทะเบียนแห่งท้องที่ที่เครื่องจักรนั้นได้จดทะเบียนไว้ส่งเรื่องขอย้ายไปยังนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่เครื่องจักรนั้นจะไปติดตั้งใหม่หรือไปเก็บไว้ เมื่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ใหม่ดังกล่าวเห็นชอบกับแผนผังรายการเครื่องจักรที่จะย้ายไปติดตั้งใหม่หรือไปเก็บไว้แล้ว เจ้าของเครื่องจักรจะต้องย้ายเครื่องจักรให้ตรงตามแผนผังรายการเครื่องจักรนั้น และเมื่อได้ย้ายเสร็จแล้ว ให้นายทะเบียนแห่งท้องที่ใหม่ดังกล่าวออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรให้ใหม่สำหรับเครื่องจักรที่ย้ายไป
ในการย้ายเครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนจำนองไว้แล้ว ให้เจ้าของเครื่องจักรแสดงหนังสือยินยอมของผู้รับจำนองต่อนายทะเบียนด้วย และให้ถือว่าเครื่องจักรที่ย้ายไปนั้นยังติดสิทธิจำนองสืบเนื่องกันไปด้วย
ในกรณีที่เจ้าของเครื่องจักรประสงค์จะย้ายเครื่องจักรออกไปนอกบริเวณสถานที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป็นการชั่วคราวไม่เกินสามสิบวัน ให้แจ้งเป็นหนังสือต่อนายทะเบียนเพื่อทราบก่อนวันที่จะย้ายเครื่องจักรนั้นไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และให้แจ้งสถานที่จะย้ายเครื่องจักรนั้นไปติดตั้งหรือไปเก็บเป็นการชั่วคราวไว้ด้วย และถ้ามีความจำเป็นต้องย้ายเครื่องจักรออกไปนอกบริเวณเป็นการชั่วคราวเกินกำหนดสามสิบวัน ให้แจ้งเป็นหนังสือต่อนายทะเบียนเพื่อขอขยายระยะเวลาก่อนครบกำหนดไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน นายทะเบียนมีอำนาจอนุญาตให้ขยายระยะเวลาได้ตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกินคราวละสามสิบวัน
ในกรณีที่เจ้าของเครื่องจักรได้ย้ายเครื่องจักรจากที่ตั้งเดิมไปติดตั้ง ณ ที่ตั้งใหม่ภายในบริเวณสถานที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรม ให้แจ้งเป็นหนังสือพร้อมกับส่งแผนผังรายการเครื่องจักรที่ย้ายให้นายทะเบียนทราบ ภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการย้ายเครื่องจักรนั้น
บทบัญญัติมาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่การย้ายเครื่องจักรซึ่งโดยปกติวิสัยในการทำงานต้องเคลื่อนย้ายไปมา
 
มาตรา ๑๒ ในกรณีที่เครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้แล้วได้มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญไปจากรายการที่ได้จดทะเบียนไว้ ให้ผู้ถือหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเกี่ยวกับเครื่องจักรนำหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนมาขอจดทะเบียนใหม่ต่อนายทะเบียนที่ได้ออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนนั้น ภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการเปลี่ยนแปลง
ในการเปลี่ยนแปลงตามวรรคหนึ่งของเครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนจำนองไว้แล้ว ให้เจ้าของเครื่องจักรนำหนังสือยินยอมของผู้รับจำนองมาแสดงต่อนายทะเบียน และให้ถือว่าทรัพย์ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปนั้นเป็นทรัพย์จำนองแทนที่ทรัพย์เดิม
 
มาตรา ๑๓ ในกรณีไถ่ถอนการจำนองหรือการขายฝากซึ่งเครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้เจ้าของหรือผู้ขายฝากซึ่งเครื่องจักรนำหลักฐานแสดงการไถ่ถอนการจำนองหรือการขายฝากของผู้รับจำนองหรือผู้รับซื้อฝากพร้อมกับหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรมาขอจดทะเบียนการไถ่ถอนต่อนายทะเบียนที่ได้ออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนนั้น
เมื่อนายทะเบียนตรวจเป็นการถูกต้อง ก็ให้จดลงในหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนให้ปรากฏการไถ่ถอนนั้น
 
มาตรา ๑๓ ทวิ เครื่องจักรใดที่ได้จดทะเบียนไว้ตามพระราชบัญญัตินี้สูญหาย ให้เจ้าของเครื่องจักรแจ้งเป็นหนังสือต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบหรือควรจะได้ทราบถึงเหตุแห่งการนั้น และให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรสำหรับเครื่องจักรนั้นได้ แต่ถ้าเครื่องจักรนั้นได้จดทะเบียนจำนองไว้ให้นายทะเบียนแจ้งให้ผู้รับจำนองทราบถึงการสูญหายดังกล่าว และในกรณีเช่นนี้นายทะเบียนจะสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนสำหรับเครื่องจักรนั้นได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากผู้รับจำนองเสียก่อน
ในกรณีที่เครื่องจักรตามวรรคหนึ่งถูกทำลาย หรือชำรุดจนไม่สามารถใช้เครื่องจักรนั้นต่อไปได้ ให้เจ้าของเครื่องจักรแจ้งเป็นหนังสือต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบ หรือควรจะได้ทราบถึงเหตุแห่งการนั้น และให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนสำหรับเครื่องจักรนั้นได้ แต่ถ้าเครื่องจักรนั้นได้จดทะเบียนจำนองไว้ ให้นายทะเบียนจดแจ้งสภาพเครื่องจักรนั้นไว้และมีหนังสือแจ้งให้ผู้รับจำนองทราบถึงการถูกทำลายหรือชำรุดดังกล่าว และในกรณีเช่นนี้นายทะเบียนจะสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนสำหรับเครื่องจักรนั้นได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากผู้รับจำนองเสียก่อน
 
มาตรา ๑๓ ตรี ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในอาคารสถานที่อันเป็นที่ตั้งของเครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนเครื่องจักรตามพระราชบัญญัตินี้ ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกเพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวเมื่อเจ้าของเครื่องจักร เจ้าของอาคารสถานที่หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องร้องขอ
บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
มาตรา ๑๔ ผู้ใด เมื่อได้เสียค่าธรรมเนียมแล้ว ชอบที่จะตรวจเอกสารซึ่งนายทะเบียนเก็บรักษาไว้ได้ หรือจะขอให้คัดสำเนาเอกสารฉบับใดๆ พร้อมด้วยคำรับรองว่าถูกต้องมอบให้ก็ได้
 
มาตรา ๑๕ เจ้าของเครื่องจักรผู้ใดย้ายเครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วออกไปนอกบริเวณสถานที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเพื่อนำไปติดตั้ง ณ สถานที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมแห่งใหม่หรือไปเก็บไว้ในสถานที่อื่นโดยไม่แจ้งให้นายทะเบียนทราบ หรือมิได้ย้ายเครื่องจักรให้ตรงตามแผนผังรายการเครื่องจักรที่นายทะเบียนเห็นชอบตามมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่งหรือวรรคสองต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือวันละห้าร้อยบาทนับแต่วันที่ไม่ปฏิบัติตาม สุดแต่จำนวนใดจะสูงกว่ากัน
 
มาตรา ๑๕ ทวิ เจ้าของเครื่องจักรผู้ใดย้ายเครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วออกไปนอกบริเวณสถานที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมชั่วคราวโดยไม่แจ้งให้นายทะเบียนทราบตามมาตรา ๑๑ วรรคสี่ หรือย้ายเครื่องจักรจากที่ตั้งเดิมไปติดตั้ง ณ ที่ตั้งใหม่ภายในบริเวณสถานที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมโดยไม่แจ้งให้นายทะเบียนทราบตามมาตรา ๑๑ วรรคห้า ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
 
มาตรา ๑๕ ตรี ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
 
มาตรา ๑๕ จัตวา เจ้าของเครื่องจักรผู้ใดไม่แจ้งต่อนายทะเบียนตามมาตรา ๑๓ ทวิ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท และให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรสำหรับเครื่องจักรนั้นได้ ในกรณีเช่นนี้ให้นำความในมาตรา ๙ ตรี และมาตรา ๑๓ ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
มาตรา ๑๕ เบญจ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่ให้ความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
 
มาตรา ๑๖ การกระทำความผิดตามมาตรา ๑๕ มาตรา ๑๕ ทวิ มาตรา ๑๕ ตรี หรือมาตรา ๑๕ จัตวา ถ้าเป็นเครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนจำนองไว้แล้ว และการกระทำนั้นเป็นไปโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้รับจำนอง ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา ๑๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้และกำหนดกิจการเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ถนอม กิตติขจร
นายกรัฐมนตรี



บัญชีอัตราค่าธรรมเนียม
 
เลขลำดับ
รายการ
อัตราค่าธรรมเนียมไม่เกิน
๑.
ค่าจดทะเบียนกรรมสิทธิ์
๕๐๐ บาท หรือถ้าจด
 
เครื่องจักร เครื่องละ
ทะเบียนหลายเครื่องใน
 
 
โรงงานเดียวและคราว
 
 
เดียวกันไม่เกิน
 
 
๑๐,๐๐๐ บาท
๒.
ค่าออกใบแทนหนังสือสำคัญแสดง
 
 
การจดทะเบียนเครื่องจักร ฉบับละ
๕๐ บาท
๓.
ค่าเครื่องหมายการจดทะเบียนซึ่ง
๑๐๐ บาท หรือถ้าประทับ
 
เจ้าพนักงานได้ประทับ หรือทำไว้
หรือทำไว้หลายเครื่องใน
 
ที่เครื่องจักร เครื่องหมายละ
โรงงานเดียวกันไม่เกิน
 
 
๑,๐๐๐ บาท
๔.
ค่าจดทะเบียนใหม่ตามมาตรา ๑๑
 
 
หรือ มาตรา ๑๒ ครั้งละ
๒๕๐ บาท
๕.
ค่าจดทะเบียนการจำนองหรือขาย
พันละ ๑ ของจำนวนที่
 
ฝากเครื่องจักร
จำนองหรือขายฝาก แต่
 
 
อย่างสูงไม่เกิน
 
 
๑๐๐,๐๐๐ บาท
๖.
ค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
 
 
เครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนแล้ว
 
 
อย่างอื่น นอกจากจำนองหรือขาย
 
 
ฝาก ครั้งละ
๑๐๐ บาท
๗.
ค่าคำขอหรือแบบพิมพ์ต่างๆ
 
 
ฉบับละ
๒ บาท
๘.
ค่าตรวจเอกสารซึ่งนายทะเบียน
 
 
เก็บรักษาไว้ ครั้งละ
๒๐ บาท
๙.
ค่าคัดสำเนาเอกสารพร้อมด้วย
 
 
คำรับรองว่าถูกต้อง หน้าละ
๕ บาท
 


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันการจำนองเครื่องจักรไม่อาจกระทำได้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะเครื่องจักรมิใช่สังหาริมทรัพย์ซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้วตามกฎหมาย จึงสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักรขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมนำเครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนแล้วไปจำนองได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมมีเงินทุนสำหรับดำเนินกิจการเพิ่มมากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์แก่การพัฒนาประเทศในด้านอุตสาหกรรม
 
พระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๐
 
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักรในปัจจุบันไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเจ้าของเครื่องจักรในการอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียน อำนาจนายทะเบียนเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักร และอำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามกฎหมายนี้ สมควรกำหนดให้มีบทบัญญัติในกรณีดังกล่าวเพื่อให้การบังคับการตามกฎหมายนี้เป็นไปโดยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนั้นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเรื่องการออกใบแทนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรและเรื่องการย้ายเครื่องจักรออกไปนอกสถานที่ตั้งให้ชัดเจนและถูกต้องตรงกับทางปฏิบัติยิ่งขึ้นรวมทั้งสมควรปรับปรุงบทกำหนดโทษและอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมแก่กาลสมัยด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
 
 
 
 
 
 
 
 
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   085-0127724
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

กรุณาใช้ข้อความที่สุภาพ คุณสามารถบันทึกฉบับร่างได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้