ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

พรบ.สุรา พ.ศ.2493

แชร์กระทู้นี้

พระราชบัญญัติ
สุรา
พ.ศ. ๒๔๙๓
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ให้ไว้ ณ วันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๓
เป็นปีที่ ๕ ในรัชกาลปัจจุบัน
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยสุรา
พระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาจึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกกฎหมายภาษีชั้นใน จุลศักราช ๑๒๔๙ พระราชบัญญัติภาษีชั้นในเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๕๗ พระราชบัญญัติแก้ไขภาษีชั้นใน พุทธศักราช๒๔๕๙ พระราชบัญญัติภาษีชั้นในเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๖๐ พระราชบัญญัติภาษีชั้นในแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๖๗ พระราชบัญญัติภาษีชั้นในแก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช ๒๔๖๙ พระราชบัญญัติภาษีชั้นในแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๖ พระราชบัญญัติภาษีชั้นในแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๖ (ฉบับที่ ๒) พระราชบัญญัติภาษีชั้นใน (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๕ และพระราชบัญญัติภาษีชั้นใน (ฉบับที่ ๔) พุทธศักราช ๒๔๘๖
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมสรรพสามิตหรือผู้ทำการแทน
“เจ้าพนักงานสรรพสามิต” หมายความว่า เจ้าพนักงานกรมสรรพสามิต ซึ่งอธิบดีแต่งตั้งให้มีอำนาจและหน้าที่เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า เจ้าพนักงานสรรพสามิตและผู้ซึ่งอธิบดีแต่งตั้งให้มีอำนาจและหน้าที่เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
“สุรา” หมายความรวมถึงวัตถุทั้งหลายหรือของผสมที่มีแอลกอฮอล์ซึ่งสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับน้ำสุราหรือซึ่งดื่มกินไม่ได้ แต่เมื่อได้ผสมกับน้ำหรือของเหลวอย่างอื่นแล้ว สามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับน้ำสุรา
“สุราแช่” หมายความว่า สุราที่ไม่ได้กลั่นและให้หมายความรวมถึงสุราแช่ที่ได้ผสมกับสุรากลั่นแล้ว แต่ยังมีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกินสิบห้าดีกรีด้วย
“สุรากลั่น” หมายความว่า สุราที่ได้กลั่นแล้ว และให้หมายความรวมถึงสุรากลั่นที่ได้ผสมกับสุราแช่แล้ว แต่มีแรงแอลกอฮอล์เกินกว่าสิบห้าดีกรีด้วย
“เชื้อสุรา” หมายความว่า แป้งเชื้อสุรา แป้งข้าวหมักหรือเชื้อใด ๆ ซึ่งเมื่อหมักกับวัตถุหรือของเหลวอื่นแล้วสามารถทำให้เกิดแอลกอฮอล์ที่ใช้ทำสุราได้
หมวด ๑
การทำสุราและการนำสุราเข้ามาในราชอาณาจักร
มาตรา ๕ ห้ามมิให้ผู้ใดทำสุรา หรือมีภาชนะหรือเครื่องกลั่นสำหรับทำสุราไว้ในครอบครอง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี
การออกใบอนุญาตให้ทำสุราสำหรับใช้ในบ้านเรือน ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๕ ทวิ ผู้ได้รับใบอนุญาตทำสุรา ต้องปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดว่าด้วยกรรมวิธีเกี่ยวกับการทำสุรา การใช้วัตถุดิบ ระยะเวลาและวิธีการเก็บสุรา ชนิดของสุราและแรงแอลกอฮอล์ จำนวนสุราที่ให้ทำและขายในท้องที่ที่กำหนด
มาตรา ๖ ห้ามมิให้ผู้ใดนำสุราเกินกว่าหนึ่งลิตรเข้ามาในราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานสรรพสามิต
การนำสุราเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อเป็นตัวอย่างสินค้าหรือมิใช่เพื่อการค้า อธิบดีมีอำนาจผ่อนผันให้นำเข้ามาได้ ตามจำนวนและทางด่านศุลกากรที่อธิบดีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา โดยไม่ต้องขอรับใบอนุญาต
บทบัญญัติในมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ทำการตามหน้าที่ผู้ขนส่งโดยสุจริต
หมวด ๒
ภาษีสุรา
มาตรา ๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตทำสุรานอกจากทำสุราสำหรับใช้ในบ้านเรือนต้องเสียภาษีสำหรับสุราที่ทำได้ก่อนขนสุราออกจากโรงงานตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง การเสียภาษีให้กระทำโดยการปิดแสตมป์สุราที่ภาชนะบรรจุสุราในความควบคุมของพนักงานเจ้าหน้าที่ เว้นแต่ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีจะกำหนดวิธีการเสียภาษีโดยวิธีอื่นโดยออกเป็นกฎกระทรวงก็ได้
ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตทำสุราส่งสุราที่ตนทำในราชอาณาจักรออกไปนอกราชอาณาจักร ผู้ได้รับใบอนุญาตทำสุราอาจขอยกเว้นภาษีสุรา สำหรับสุราที่จะส่งออกไปนอกราชอาณาจักรนั้นได้ โดยต้องปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงเกี่ยวกับการขอและการยกเว้นภาษีสุรา การเก็บและการขนสุราดังกล่าวออกจากโรงงานสุราเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงสุราหรือภาชนะบรรจุสุราตามมาตรา ๒๒ ให้ผู้ได้รับอนุญาตปิดแสตมป์สุราใหม่ที่ภาชนะบรรจุสุราโดยไม่ต้องเสียภาษีอีก
มาตรา ๗ ทวิ ในกรณีที่มีกฎกระทรวงกำหนดวิธีการเสียภาษีโดยวิธีอื่นนอกจากวิธีการปิดแสตมป์สุราตามมาตรา ๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตทำสุราต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงดังกล่าว
มาตรา ๗ ตรี กฎกระทรวงกำหนดวิธีการเสียภาษีโดยวิธีอื่นนอกจากวิธีการปิดแสตมป์สุราตามมาตรา ๗ ไม่กระทบกระเทือนการเสียภาษีสุราที่ได้กระทำโดยวิธีปิดแสตมป์สุราไปแล้วก่อนวันที่กฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับ
บรรดาแสตมป์สุราที่ผู้ได้รับใบอนุญาตทำสุราซื้อไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ และยังมิได้ใช้ปิดภาชนะบรรจุสุราให้ใช้เป็นเครดิตในการเสียภาษีสุราได้โดยวิธีส่งคืนแสตมป์สุราดังกล่าว
มาตรา ๘ ผู้นำสุราเข้ามาในราชอาณาจักรจะต้องเสียภาษีสุราโดยปิดแสตมป์สุราที่ภาชนะบรรจุสุราตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง เว้นแต่สุรานั้นมีปริมาณไม่เกินหนึ่งลิตร และได้เปิดภาชนะที่บรรจุแล้ว การปิดแสตมป์สุราจะต้องปิดก่อนขนผ่านด่านศุลกากร แต่อธิบดีจะอนุญาตให้นำไปปิด ณ สถานที่อื่น ในความควบคุมของพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ได้
ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงภาชนะบรรจุสุราตามความในมาตรา ๒๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องปิดแสตมป์สุราที่ภาชนะใหม่อีกกึ่งหนึ่ง
มาตรา ๘ ทวิ (ยกเลิก)
มาตรา ๘ ตรี ในกรณีที่พระราชบัญญัตินี้กำหนดให้เสียภาษีสุราในอัตราทั้งตามมูลค่าและตามปริมาณ ให้เสียภาษีในอัตราที่คิดเป็นเงินสูงกว่า
มาตรา ๘ จัตวา การเสียภาษีสุราตามมูลค่านั้น ให้ถือมูลค่าตาม (๑) และ (๒) โดยให้รวมภาษีสุราที่พึงต้องชำระด้วย ดังนี้
(๑) ในกรณีสุราที่ทำในราชอาณาจักร ให้ถือตามราคาขาย ณ โรงงานสุรา
ในกรณีไม่มีราคาขาย ณ โรงงานสุรา หรือราคาขาย ณ โรงงานสุราดังกล่าวมีหลายราคา ให้ถือตามราคาที่อธิบดีประกาศ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักร เพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี โดยกำหนดจากราคาขาย ณ โรงงานสุราในตลาดปกติได้
(๒) ในกรณีสุราที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ให้ถือราคา ซี.ไอ.เอฟ.ของสุราบวกด้วยอากรขาเข้า ค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นตามที่จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาแต่ไม่รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่กำหนดในหมวด ๔ ลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร
ในกรณีที่ผู้นำเข้าได้รับยกเว้นหรือลดอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือตามกฎหมายอื่น ให้นำอากรขาเข้าซึ่งได้รับยกเว้นหรือลดอัตราดังกล่าวมารวมในการคำนวณมูลค่าตาม (๒) ด้วย
ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ตาม (๒) ได้แก่ราคาสินค้าที่บวกด้วยค่าประกันภัยและค่าขนส่งถึงด่านศุลกากรในราชอาณาจักร ทั้งนี้ เว้นแต่
(ก) ในกรณีที่อธิบดีกรมศุลกากรประกาศให้ราคาในท้องตลาดสำหรับสุราประเภทใดประเภทหนึ่งที่ต้องเสียอากรตามราคาเป็นรายเฉลี่ย ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ให้ถือราคานั้นเป็นราคาสุราในการคำนวณราคา ซี.ไอ.เอฟ.
(ข) ในกรณีที่เจ้าพนักงานศุลกากรประเมินราคาเพื่อเสียอากรขาเข้าใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ให้ถือราคานั้นเป็นราคาสุราในการคำนวณราคา ซี.ไอ.เอฟ.
มาตรา ๘ เบญจ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำสุรา แจ้งราคาขาย ณ โรงงานสุราต่ออธิบดีตามแบบและภายในระยะเวลาที่อธิบดีกำหนด
มาตรา ๘ ฉ ในกรณีสุราที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร รัฐมนตรีจะประกาศกำหนดให้กรมศุลกากรเรียกเก็บภาษีเพื่อกรมสรรพสามิตก็ได้
มาตรา ๙ การปิดแสตมป์สุราจะเป็นการสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ปิดครบถ้วนตามอัตราและได้ขีดฆ่าแสตมป์นั้นแล้ว
การปิดและขีดฆ่าแสตมป์สุราให้เป็นไปตามวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๑๐ ผู้ส่งสุราออกไปนอกราชอาณาจักรมีสิทธิได้รับคืนค่าภาษีสุราสำหรับสุราที่ส่งออกไปนั้น โดยปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๑๐ ทวิ สุราที่ได้รับยกเว้นภาษีสุราหรือได้คืนค่าภาษีสุราถ้านำกลับเข้ามาในราชอาณาจักร ให้ผู้นำเข้าเสียภาษีสุราตามอัตราเดียวกับผู้ได้รับใบอนุญาตทำสุราและให้ปฏิบัติตามวิธีการที่กำหนดในมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง
มาตรา ๑๑ สุราซึ่งได้ทำการขนออกจากโรงงานสุราที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าเจ้าของพิสูจน์ให้เป็นที่พอใจอธิบดีได้ว่า ได้แปรสภาพไปเองจนไม่สมควรจะใช้ดื่มต่อไป และได้ส่งคืนโรงงานสุราโดยปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง เจ้าของสุรานั้นมีสิทธิที่จะได้รับคืนค่าภาษีสุราสำหรับสุราที่ส่งคืนนั้น
หมวด ๓
การใช้และการขนสุรา
มาตรา ๑๒ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้สุราทำของสิ่งหนึ่งสิ่งใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวงเพื่อการค้า เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานสรรพสามิต
บทบัญญัติในมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่การใช้สุราในการปรุงยาตามใบสั่งของแพทย์
มาตาม ๑๓ ห้ามมิให้ผู้ใดทำการขนสุราที่ยังมิได้เสียภาษีโดยถูกต้องออกจากโรงงานสุรา เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี
มาตรา ๑๔ ห้ามมิให้ผู้ใดทำการขนสุราตั้งแต่สิบลิตรขึ้นไป เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตขนสุราจากเจ้าพนักงานสรรพสามิต หรือสำหรับกรณีขนสุราที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรจากเจ้าพนักงานศุลกากร หรือเป็นสุราชนิดที่ได้มีกฎกระทรวงยกเว้นให้ทำการขนได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตขนสุรา
ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องนำใบอนุญาตขนสุรากำกับไปกับสุราที่ขนด้วย
มาตรา ๑๕ ผู้ใดทำการขนสุราที่ทำในราชอาณาจักรเกินกว่าหนึ่งลิตร แต่ไม่ถึงสิบลิตรเข้าในหรือออกนอกเขตท้องที่ที่กำหนดในกฎกระทรวง ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานสรรพสามิต ทั้งนี้ มิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้โดยสารทำการขนสุราโดยยานพาหนะสาธารณะที่รับส่งคนโดยสารเป็นปกติผ่านเขตท้องที่ที่กำหนดนั้น หรือเป็นสุราชนิดที่ได้มีกฎกระทรวงยกเว้นให้ทำการขนได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตขนสุรา
ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องนำใบอนุญาตขนสุรากำกับไปกับสุราที่ขนด้วย
มาตรา ๑๖ ให้อธิบดีมีอำนาจอนุญาตให้ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ขายสุราประเภทที่ ๑ หรือประเภทที่ ๒ ออกหนังสือสำคัญสำหรับการขนสุราออกจากสถานที่ขายสุราของตนได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด หนังสือสำคัญเช่นว่านี้ ให้ถือเสมือนหนึ่งเป็นใบอนุญาตขนสุราดังกล่าวในมาตรา ๑๔ ตามเงื่อนไขนั้น
หมวด ๔
การขายสุรา
มาตรา ๑๗ ห้ามมิให้ผู้ใดขายสุราหรือนำสุราออกแสดงเพื่อขาย เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานสรรพสามิต
มาตรา ๑๘ บทบัญญัติในมาตรา ๑๗ มิให้ใช้บังคับแก่
(๑) การขายสุราทั้งหมดในคราวเดียวภายใต้ความควบคุมของเจ้าพนักงานสรรพสามิต ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตตายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต
(๒) การขายในการบังคับคดี
(๓) การขายโดยคำสั่งของอธิบดีกรมศุลกากร ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
มาตรา ๑๙ ใบอนุญาตขายสุรามี ๗ ประเภท คือ
ประเภทที่ ๑ สำหรับการขายสุราทุกชนิด ครั้งหนึ่งเป็นจำนวนตั้งแต่สิบลิตรขึ้นไป
ประเภทที่ ๒ สำหรับการขายสุราที่ทำในราชอาณาจักร ครั้งหนึ่งเป็นจำนวนตั้งแต่สิบลิตรขึ้นไป
ประเภทที่ ๓ สำหรับการขายสุราทุกชนิด ครั้งหนึ่งเป็นจำนวนต่ำกว่าสิบลิตร
ประเภทที่ ๔ สำหรับการขายสุราที่ทำในราชอาณาจักร ครั้งหนึ่งเป็นจำนวนต่ำกว่าสิบลิตร
ประเภทที่ ๕ สำหรับการขายสุราทุกชนิด ครั้งหนึ่งเป็นจำนวนต่ำกว่าสิบลิตรเพื่อดื่ม ณ สถานที่ขายเป็นการชั่วคราวไม่เกินสิบวัน
ประเภทที่ ๖ สำหรับการขายสุราที่ทำในราชอาณาจักร ครั้งหนึ่งเป็นจำนวนต่ำกว่าสิบลิตร เพื่อดื่ม ณ สถานที่ขายเป็นการชั่วคราวไม่เกินสิบวัน
ประเภทที่ ๗ สำหรับการขายสุราครั้งหนึ่งเป็นจำนวนต่ำกว่าสิบลิตร เพื่อดื่มภายในสมาคมหรือสโมสร
มาตรา ๑๙ ทวิ ใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ ๔ ตามมาตรา ๑๙ ให้ออกให้แก่ผู้ทำการขายเร่ได้ด้วย
การขออนุญาต และการออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ในการนี้จะกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ได้รับใบอนุญาตขายสุราปฏิบัติด้วยก็ได้
ใบอนุญาตขายสุราที่ออกตามวรรคสอง ให้ถือเป็นใบอนุญาตขนสุราสำหรับใช้กำกับสุราที่นำไปขายเร่นั้นด้วย
มาตรา ๒๐ ผู้ได้รับใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ ๓ หรือประเภทที่ ๔ จะขายสุรา ได้แต่เฉพาะภายในเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๒๑ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ ๑ หรือประเภทที่ ๒ เก็บหรือรักษาสุราประเภทที่ได้รับอนุญาตให้ขายไว้ ณ ที่อื่น นอกจากที่ซึ่งระบุไว้ในใบอนุญาต เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานสรรพสามิต
มาตรา ๒๒ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ ๑ หรือประเภทที่ ๒ ทำการเปลี่ยนแปลงสุรา โดยเอาสุราอื่นใด หรือน้ำ หรือของเหลว หรือวัตถุอื่นใดเจือปนลงหรือเปลี่ยนแปลงภาชนะบรรจุสุรา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงานสรรพสามิต และทำต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
ถ้าปรากฏว่า สุราที่มีอยู่ในความครอบครองของผู้ได้รับใบอนุญาตดังกล่าวในวรรคก่อนเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ซึ่งมิได้เป็นไปตามธรรมชาติ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้นั้นทำการเปลี่ยนแปลงสุรา
มาตรา ๒๓ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ ๓ ถึงประเภทที่ ๗ ทำการเปลี่ยนแปลงสุรา โดยเอาสุราอื่นใด หรือน้ำ หรือของเหลว หรือวัตถุอื่นใดเจือปนลงหรือเปลี่ยนแปลงภาชนะบรรจุสุรา เว้นแต่ผู้ซื้อได้ร้องขอให้เปลี่ยนแปลงสุราเพื่อดื่มในขณะนั้น
ถ้าปรากฏว่าสุราที่มีอยู่ในความครอบครองของผู้ได้รับใบอนุญาตดังกล่าวในวรรคก่อนเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ซึ่งมิได้เป็นไปตามธรรมชาติ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นทำการเปลี่ยนแปลงสุรา
หมวด ๕
เชื้อสุรา
มาตรา ๒๔ ห้ามมิให้ผู้ใดทำหรือขายเชื้อสุรา เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานสรรพสามิต
มาตรา ๒๕ ห้ามมิให้ผู้ใดมีเชื้อสุราไว้ในครอบครองเว้นแต่จะเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตตามความในมาตรา ๒๔ หรือเป็นผู้ซื้อ หรือได้มาจากผู้ได้รับใบอนุญาตดังกล่าวแล้ว
หมวด ๖
เบ็ดเตล็ด
มาตรา ๒๖ ใบอนุญาตซึ่งออกตามความในมาตรา ๕ มาตรา ๑๒ มาตรา ๑๗ และมาตรา ๒๔ ให้ใช้ได้เฉพาะในสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องแสดงใบอนุญาตนั้นไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย
การเปลี่ยนแปลงสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตก็ดี การโอนใบอนุญาตเช่นว่านี้ก็ดี จะทำได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๒๗ ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำสุราตามมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง หรือได้รับใบอนุญาตขายสุราตามมาตรา ๑๙ ประเภทที่ ๑ หรือประเภทที่ ๒ หรือประเภทที่ ๓ หรือได้รับใบอนุญาตให้ใช้สุราตามมาตรา ๑๒ หรือได้รับใบอนุญาตให้ทำหรือขายเชื้อสุราตามมาตรา ๒๔ จะต้องทำบัญชีประจำวันและบัญชีงบเดือนแสดงจำนวนสุราหรือเชื้อสุรา และยื่นบัญชีงบเดือนต่อเจ้าพนักงานสรรพสามิต ตามแบบและกำหนดเวลาที่อธิบดีกำหนด
บัญชีประจำวันจะต้องเก็บรักษาไว้ ณ สถานที่ซึ่งได้รับใบอนุญาต
การทำบัญชีงบเดือนมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ได้รับใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ ๓
มาตรา ๒๘ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปตรวจโรงงานสุราที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ หรือสถานที่ของผู้ได้รับอนุญาตให้ทำ หรือขาย หรือเก็บสุรา หรือเชื้อสุรา หรือสินค้าอื่นใดที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ในเวลาทำการ
มาตรา ๒๙ เพื่อประโยชน์ในการจับกุมและปราบปรามผู้กระทำความผิด ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
หมวด ๗
บทกำหนดโทษ
มาตรา ๓๐ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าได้ขายสุราที่ทำขึ้นนั้นด้วย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าเป็นการทำสุราแช่ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท
มาตรา ๓๑ ผู้ใดขาย หรือนำออกแสดงเพื่อขาย ซึ่งสุราที่รู้ว่าทำขึ้นโดยฝ่าฝืนมาตรา ๕ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
มาตรา ๓๒ ผู้ใดซื้อ หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งสุราที่รู้ว่าทำขึ้นโดยฝ่าฝืนมาตรา ๕ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท แต่ถ้าสุรานั้นเป็นสุรากลั่นมีปริมาณต่ำกว่าหนึ่งลิตร หรือเป็นสุราแช่มีปริมาณต่ำกว่าสิบลิตร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท
มาตรา ๓๒ ทวิ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕ ทวิ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
มาตรา ๓๓ ผู้ใดขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งสุราที่รู้ว่าต้องปิดแสตมป์สุรา แต่มิได้ปิดแสตมป์สุรา หรือปิดแสตมป์สุราไม่ครบถ้วน หรือมิได้ปิดแสตมป์สุราตามวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสี่เท่าของภาษีสุราตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ต้องไม่น้อยกว่าลิตรละหนึ่งร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เศษของลิตรให้ถือเป็นหนึ่งลิตร
มาตรา ๓๓ ทวิ ผู้ใดขายหรือมีไว้เพื่อขายโดยไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งสุราที่ได้รับยกเว้นภาษีสุราตามมาตรา ๗ วรรคสอง หรือสุราที่มีสิทธิได้รับคืนค่าภาษีสุรา และสุรานั้นได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรแล้วตามมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสี่เท่าของภาษีสุราตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ต้องไม่น้อยกว่าลิตรละหนึ่งร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เศษของลิตรให้ถือเป็นหนึ่งลิตร
มาตรา ๓๓ ตรี ผู้ใดขาย มีไว้เพื่อขาย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสุราที่รู้ว่าต้องเสียภาษีตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา ๗ แต่มิได้เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินสี่เท่าของภาษีสุราตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ต้องไม่น้อยกว่าลิตรละหนึ่งร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เศษของลิตรให้ถือเป็นหนึ่งลิตร
มาตรา ๓๔ ผู้ใดซื้อหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสุราที่ต้องปิดแสตมป์สุราแต่มิได้ปิดแสตมป์สุรา หรือปิดแสตมป์สุราไม่ครบถ้วน หรือมิได้ปิดแสตมป์สุราตามวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้โดยไม่สุจริต ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองเท่าของภาษีสุราตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ต้องไม่น้อยกว่าลิตรละห้าสิบบาท
เศษของลิตรให้ถือเป็นหนึ่งลิตร
มาตรา ๓๔ ทวิ ผู้ใดซื้อหรือมีไว้ในครอบครองโดยไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งสุราที่ได้รับยกเว้นภาษีสุราตามมาตรา ๗ วรรคสอง หรือสุราที่มีสิทธิได้รับคืนค่าภาษีสุราและสุรานั้นได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรแล้ว ตามมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองเท่าของภาษีสุราตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ต้องไม่น้อยกว่าลิตรละห้าสิบบาท
เศษของลิตรให้ถือเป็นหนึ่งลิตร
มาตรา ๓๔ ตรี ผู้ได้รับใบอนุญาตทำสุราผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงเกี่ยวกับวิธีการเสียภาษีที่ออกตามมาตรา ๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
ถ้าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่ง เป็นกรณีไม่เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วนตามระยะเวลาหรือวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่เท่าของภาษีสุราตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ต้องไม่น้อยกว่าสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๓๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
มาตรา ๓๕ ทวิ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๗ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
มาตรา ๓๖ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘ หรือมาตรา ๒๒ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
มาตรา ๓๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙ วรรคสอง หรือมาตรา ๒๖ วรรคแรก ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
มาตรา ๓๘ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒ มาตรา ๒๑ หรือมาตรา ๒๓ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
มาตรา ๓๘ ทวิ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๔ หรือ มาตรา ๑๕ มีความผิดต้องระวางโทษปรับตามปริมาณน้ำสุราที่ทำการขน ในอัตราลิตรละ ๑๐ บาท เศษของลิตรให้ถือเป็นหนึ่งลิตร
มาตรา ๓๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสี่เท่าของภาษีสุราตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ต้องไม่น้อยกว่าสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๔๐ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๗ ถ้าสุรานั้นเป็นสุราที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท ถ้าสุรานั้นเป็นสุราที่ทำขึ้นในราชอาณาจักร มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
มาตรา ๔๐ ทวิ ผู้ได้รับใบอนุญาตขายสุราทำการขายสุราไม่ตรงตามประเภทใบอนุญาตที่เจ้าพนักงานออกให้ตามมาตรา ๑๙ หรือผู้ได้รับใบอนุญาตขายสุราซื้อสุราจากผู้ไม่มีสิทธิขายได้โดยชอบด้วยกฎหมาย มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท
มาตรา ๔๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าสิบบาท
มาตรา ๔๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๔ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
มาตรา ๔๒ ทวิ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๕ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท
มาตรา ๔๓ ผู้ใดทำบัญชีไม่ถูกต้องตามความจริง หรือไม่ทำบัญชีแสดงจำนวนสุราหรือเชื้อสุราตามมาตรา ๒๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
ผู้ใดยื่นบัญชีแสดงจำนวนสุราหรือเชื้อสุราตามมาตรา ๒๗ อันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๔๓ ทวิ ผู้ใดไม่แจ้งราคาขายตามมาตรา ๘ เบญจ หรือแจ้งราคาขายดังกล่าวไม่ถูกต้องตามความจริง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
ผู้ใดแจ้งราคาขายสุราตามมาตรา ๘ เบญจ อันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๔๔ ผู้ใดมีแสตมป์สุราซึ่งรู้อยู่ว่าเป็นแสตมป์ปลอม หรือมีแสตมป์สุราที่ใช้แล้วไว้ในครอบครองเพื่อใช้อีกหรือเพื่อค้า หรือนำแสตมป์สุราที่ใช้แล้วมาใช้อีก มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๔๔ ทวิ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ซึ่งมีโทษปรับสถานเดียว ให้อธิบดีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีอำนาจเปรียบเทียบได้
มาตรา ๔๕ บรรดาสุรา เชื้อสุรา และสินค้าที่ทำด้วยสุรา ที่ได้ทำ นำเข้ามาในราชอาณาจักร ขายหรือมีไว้ในครอบครอง อันเป็นการฝ่าฝืนบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ตลอดจนภาชนะที่ใส่สิ่งของดังกล่าว รวมทั้งภาชนะและเครื่องกลั่นสำหรับทำสุราให้ริบเป็นของกรมสรรพสามิต
มาตรา ๔๖ ผู้ได้รับอนุญาตซึ่งกระทำผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ หรือข้อกำหนดในกฎกระทรวง หรือข้อกำหนดในใบอนุญาต เจ้าพนักงานสรรพสามิตหรืออธิบดีผู้ออกใบอนุญาต แล้วแต่กรณี มีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดไม่เกินครั้งละ ๖ เดือน หรือจะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเสียก็ได้
หมวด ๘
การรักษาพระราชบัญญัติ
มาตรา ๔๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง
(๑) กำหนดชนิดของสุรา อัตราภาษีสุรา ลักษณะของแสตมป์สุรา และอัตราค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้
(๒) ลดหย่อนหรืองดเว้นไม่เก็บค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาตขายสุราหรือใบอนุญาตให้ทำหรือขายเชื้อสุรา
(๓) ลดหย่อนหรืองดเว้นไม่เรียกเก็บภาษีสุรา
(ก) สำหรับสุราของผู้ได้รับเอกสิทธิ์ตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติ หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามสัญญา หรือความตกลงกับต่างประเทศหรือ ทางการทูต ตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน โดยปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
สุราที่ได้รับลดหย่อนหรืองดเว้นไม่เรียกเก็บภาษีสุราตามวรรคหนึ่ง หากโอนไปเป็นของผู้ไม่มีเอกสิทธิ์ หรือมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด ต้องเสียภาษี
แต่ถ้าเป็นสุราที่ผู้ได้รับเอกสิทธิ์นำมาบริจาคให้แก่องค์การสาธารณกุศลโดยปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด ให้งดเว้นไม่เรียกเก็บภาษี
(ข) สำหรับสุราที่นำไปทำการแปลงสภาพ หรือที่นำไปใช้ในการแพทย์ เภสัชกรรม วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรมตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด
(๔) กำหนดวิธีการ เงื่อนไขและข้อกำหนด เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี



บัญชีอัตราภาษีสุรา และค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติ
หมายเลข
รายการ
อัตรา
ภาษีสุราสำหรับสุราที่ทำในราชอาณาจักรและสุราที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร
(ก) ภาษีสุราแช่
ตามมูลค่าร้อยละ ๖๐ หรือ ๑๐๐ บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ซึ่งชันสูตรด้วยเครื่องวัดของกรมสรรพสามิตหรือที่กรมสรรพสามิตรับรอง
(ข) สุรากลั่น
ตามมูลค่าร้อยละ ๕๐ หรือ ๔๐๐ บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตร แห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ซึ่งชันสูตรด้วยเครื่องวัดของกรมสรรพสามิตหรือที่กรมสรรพสามิตรับรอง
(ยกเลิก)
(ยกเลิก)
(ยกเลิก)
(ยกเลิก)
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำสุราโรงหนึ่ง ปีละ
๕,๐๐๐ บาท
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำสุราสำหรับใช้ในบ้านเรือน ปีละ
๕๐ บาท
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำสุราสำหรับทำน้ำส้มโรงหนึ่ง ปีละ
๑๐,๐๐๐ บาท
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้นำสุราเข้ามาในราชอาณาจักร ฉบับละ
๑,๐๐๐ บาท
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา ประเภทที่ ๑ ปีละ
๑๐,๐๐๐ บาท
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา ประเภทที่ ๒ ปีละ
๕,๐๐๐ บาท
๑๐
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา ประเภทที่ ๓ ปีละ
๒,๐๐๐ บาท
๑๑
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา ประเภทที่ ๔ ปีละ
๒๐๐ บาท
๑๒
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา ประเภทที่ ๕ ฉบับละ
๓๐๐ บาท
๑๓
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา ประเภทที่ ๖ ฉบับละ
๑๐๐ บาท
๑๔
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา ประเภทที่ ๗ ปีละ
๓๐๐ บาท
๑๕
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้เก็บหรือรักษาสุราไว้ ณ ที่อื่นตามมาตรา ๒๑ ปีละ
๑,๐๐๐ บาท
๑๖
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำเชื้อสุราเพื่อขาย ปีละ
๒,๐๐๐ บาท
๑๗
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ขายเชื้อสุรา ปีละ
๒๐๐ บาท
๑๘
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำเชื้อสุราสำหรับใช้ในบ้านเรือน ปีละ
๕๐ บาท
๑๙
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำเชื้อสุราสำหรับใช้ในโรงงานสุรา ปีละ
๕๐๐ บาท
๒๐
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้สุรา ปีละ
๓๐๐ บาท
๒๑
ค่าธรรมเนียมการโอนหรือรับโอนใบอนุญาตหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ ฉบับละ
๑ ใน ๔ ของอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนั้น ๆ แต่ไม่ต่ำกว่าฉบับละห้าบาท
๒๒
ค่าธรรมเนียมใบแทนใบอนุญาตทุกชนิด ฉบับละ
๑๐๐ บาท
๒๓
ค่าธรรมเนียมสำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมหรือไปควบคุมตาม มาตรา ๗ มาตรา ๘ หรือมาตรา ๒๒
(ก) กลางวันวันเสาร์ วันอาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ คนละ/วันละ
๑๐๐ บาท
(ข) ระหว่างเวลา ๑๖.๓๐ น. ถึง ๒๔.๐๐ น. คนละ/วันละ
๑๐๐ บาท
(ค) ระหว่างเวลา ๒๔.๐๐ น. ถึง ๐๘.๓๐ น. ของวันรุ่งขึ้น คนละ/วันละ
๑๐๐ บาท



พระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ
๑. เนื่องจากมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดนำสุราเกินกว่าหนึ่งลิตรเข้ามาในราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานสรรพสามิต ฯลฯ” และมาตรา ๘ บัญญัติว่า “ผู้ได้รับใบอนุญาตนำสุราเข้ามาในราชอาณาจักรจะต้องเสียภาษีสุราโดยปิดแสตมป์สุรา.... ฯลฯ” ซึ่งความในมาตรา ๘ นี้ เมื่อพิจารณาแล้วก็น่าจะตีความได้ว่า ผู้ที่จะต้องเสียภาษีสุราที่นำเข้ามาก็คือ “ผู้ได้รับใบอนุญาต”(นำเข้าเกินกว่าหนึ่งลิตร) โดยเฉพาะเท่านั้น ฉะนั้น ผู้ที่ไม่ต้องขอรับใบอนุญาต (นำเข้าไม่เกินหนึ่งลิตร) ก็ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งเมื่อตีความได้เช่นนี้แล้วก็นับว่ายังไม่ถูกต้องกับเจตนารมณ์และความมุ่งหมายเกี่ยวกับการควบคุมในทางภาษีสุรา เพราะทางการมีความมุ่งหมายจะให้สุราทุกขวดที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือที่ทำขึ้นภายในเพื่อจำหน่ายก็ตาม มีแสตมป์สุราปิดอยู่เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าได้ผ่านการเสียภาษี หรือการอนุญาตของเจ้าพนักงานมาแล้ว แต่ที่ใช้คำว่า “ไม่เกินหนึ่งลิตร” ในมาตรา ๖ นั้น เป็นการยกเว้นสำหรับผู้ที่นำติดตัวเข้ามาเพียงจำนวนเล็กน้อย ให้ได้รับความสะดวกไม่ต้องยื่นคำร้องขอรับใบอนุญาตนำเข้า เท่านั้น มิได้มุ่งหมายจะยกเว้นภาษีให้ เพราะถ้ายกเว้นภาษีให้แล้วก็จะมีสุราที่ไม่ต้องปิดแสตมป์อยู่ในความครอบครองของบุคคลต่าง ๆ ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อความในมาตรา ๘ อาจตีความไปได้ดังกล่าวเช่นนี้ จึงสมควรแก้ไขเสียให้ชัดแจ้ง โดยตัดคำว่า “ได้รับใบอนุญาต” ออกเสีย
๒. เนื่องจากขณะนี้ปรากฏว่ามีผู้ลักลอบทำ ขาย หรือมีสุรามิชอบด้วยกฎหมายกันแพร่หลาย แม้จะถูกจับกุมอย่างไรก็ไม่ทำให้ผู้กระทำผิดเข็ดหลาบ ทั้งนี้เพราะอัตราโทษตามกฎหมายยังเบาไป สมควรเพิ่มให้สูงขึ้นอีก
๓. เนื่องจากขณะนี้ปรากฏว่ามีผู้ลักลอบขนสุราจากจังหวัดที่มีราคาต่ำเข้าไปขายในจังหวัดที่มีราคาสูง โดยยอมถูกจับกุมและเสียค่าปรับในอัตราชั้นสูง ๕๐๐ บาท เมื่อเสร็จคดีชั้นพนักงานสอบสวนแล้วก็รับของกลางคืนไปลักลอบจำหน่ายอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถ้าหากนำไปเป็นจำนวนมาก ๆ แล้ว ถึงจะเสียค่าปรับสูงก็ยังคงมีกำไรอีกมาก การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความยุ่งยากแก่วงการค้าสุราขึ้นทุกขณะ และเป็นการกระทบกระเทือนต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมในฐานะคู่สัญญาของผู้ต้มกลั่นและขายส่งสุราเกี่ยวกับเรื่องเงินค่าธรรมเนียมพิเศษและค่าปรับตามสัญญา จึงควรกำหนดโทษเสียใหม่
๔. เนื่องจากพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ มิได้มีบทลงโทษผู้รับอนุญาตจำหน่ายสุราที่ซื้อสุราจากบุคคลอื่นซึ่งมิได้รับอนุญาตขายสุรามาไว้ในร้าน เมื่อถูกจับกุมฐานมีสุรามิชอบด้วยกฎหมาย ก็ใช้กรณีดังกล่าวยกขึ้นเป็นข้ออ้าง ทำให้พ้นผิดทางอาญาไปได้ และอีกกรณีหนึ่งก็คือทำการขายสุราไม่ตรงกับประเภทใบอนุญาตที่ได้รับ เช่น ได้รับอนุญาตขายปลีกแต่ทำการขายในจำนวนของร้านขายส่ง หรือเป็นร้านขายปลีกเฉพาะสุราภายในประเทศ (ประเภทที่ ๔) แต่ขายสุราหรือเบียร์ต่างประเทศ (ประเภทที่ ๓) ดังนี้เป็นต้น การกระทำดังกล่าวเป็นการหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมใบอนุญาต เพราะมีจำนวนสูงต่ำแตกต่างกัน และการกระทำทั้งสองประการนี้มิได้มีบทลงโทษไว้ ฉะนั้น จึงควรกำหนดบทลงโทษไว้เสียด้วย
๕. เนื่องจากขณะนี้ปรากฏว่าผู้ต้มกลั่นสุราหลายจังหวัดพากันร้องเรียนเรื่องมีผู้ลักลอบทำแป้งเชื้อสุราออกจำหน่ายแพร่หลาย ทำให้เกิดสุราเถื่อนระบาด เป็นผลเสียหายแก่ผู้ต้มกลั่นและรายได้ในทางภาษีของรัฐ ถึงแม้เจ้าหน้าที่จะทำการปราบปรามเข้มแข็ง ก็ไม่ทำให้ผู้กระทำผิดเกรงกลัว เพราะโทษตามกฎหมายเพียงปรับไม่เกินสองร้อยบาท เมื่อเสร็จคดีแล้วก็กลับไปลักลอบทำใหม่อีก จึงควรแก้ไขเพิ่มโทษชนิดนี้ให้หนักขึ้น
๖. เนื่องจากพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ มิได้มีบทบัญญัติลงโทษผู้มีแสตมป์สุราปลอม หรือแสตมป์สุราที่ใช้แล้วไว้ในครอบครองโดยเจตนาทุจริต เหมือนดังเช่นที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร คงมีแต่โทษฐานนำแสตมป์สุราที่ใช้แล้วมาใช้อีก (มาตรา ๔๔) ประการเดียวเท่านั้น เนื่องจากขณะนี้มีการกระทำผิดเกี่ยวกับแสตมป์สุราปลอมและแสตมป์สุราที่ใช้แล้วมากขึ้น จึงสมควรเพิ่มบทลงโทษโดยรวมไว้ในมาตรา ๔๔ นี้อีกด้วย และการกระทำผิดดังกล่าวตรวจตราจับกุมได้ยาก ฉะนั้น จึงควรกำหนดบทลงโทษให้หนักกว่าเดิมด้วย
พระราชกำหนดสุรา พ.ศ. ๒๕๐๑
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ เนื่องจากอัตราค่าภาษีสุราแช่ที่เก็บอยู่ในปัจจุบันนี้ได้กำหนดไว้ไม่เหมาะสมแก่ภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน จึงสมควรกำหนดอัตราเสียใหม่
พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดสุรา พ.ศ. ๒๕๐๑ พ.ศ. ๒๕๐๑
มาตรา ๓ ให้อนุมัติพระราชกำหนดสุรา พ.ศ. ๒๕๐๑
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มีพระราชกำหนดสุรา พ.ศ. ๒๕๐๑ ประกาศใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๐๑ ไปแล้ว รัฐบาลจึงของเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้เป็นไปตาม มาตรา ๘๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕
พระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๑๐

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อกำหนดเงื่อนไขและวิธีการว่าด้วยกรรมวิธีเกี่ยวกับการทำสุรา การใช้วัตถุดิบ ระยะเวลาและวิธีการเก็บสุรา ชนิดของสุราและแรงแอลกอฮอล์ จำนวนสุราที่ให้ทำและขายให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำสุราปฏิบัติและลงโทษผู้ไม่ปฏิบัติด้วย กำหนดการออกใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ ๔ สำหรับการขายเร่ กำหนดการผ่อนผันสำหรับผู้ที่นำสุราเกินกว่าหนึ่งลิตรเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อเป็นตัวอย่างสินค้าหรือมิใช่เพื่อการค้า แก้ไขอัตราภาษีสุรากลั่นแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ลดหย่อนหรืองดเว้นไม่เรียกเก็บภาษีสุราสำหรับแอลกอฮอล์ที่นำไปใช้ในการอุตสาหกรรม ตลอดจนกำหนดความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว ให้อธิบดีกรมสรรพสามิต หรือเจ้าพนักงานสรรพสามิตซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมสรรพสามิตมีอำนาจเปรียบเทียบได้
พระราชกำหนดสุรา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๓

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่อัตราภาษีสุราที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่เหมาะสมแก่สถานการณ์ สมควรแก้ไขให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และโดยที่การแก้ไขจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับ เพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้
พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดสุรา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๓ พ.ศ. ๒๕๑๓
มาตรา ๓ ให้อนุมัติพระราชกำหนดสุรา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๓
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชกำหนดสุรา (ฉบับที่๒) พ.ศ.๒๕๑๓ ประกาศใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๓ ไปแล้ว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้เพื่ออนุมัติพระราชกำหนดสุรา (ฉบับที่๒) พ.ศ.๒๕๑๓
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๗๕ ลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕
โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยสุราโดยยกเลิกภาษีการค้าสุราและกำหนดอัตราภาษีสุราเสียใหม่ เพื่อความสะดวกแก่การจัดเก็บและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการค้าสุรา
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๕๓ ลงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๕
โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า กำหนดเวลาการจำหน่ายสุราและดื่มสุรา ณ สถานที่ขายสุราและกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนตามความในพระราชกฤษฎีกาควบคุมโภคภัณฑ์ยังไม่เหมาะสม สมควรมีบทบัญญัติให้มีการอนุญาตให้จำหน่ายสุราและดื่มสุรา ณ สถานที่ขายสุราในเวลาที่ห้ามจำหน่ายสุราได้ในบางกรณี และกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนเสียใหม่
ข้อ ๑ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชกฤษฎีกาควบคุมโภคภัณฑ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๙๕
(๒) พระราชกฤษฎีกาควบคุมโภคภัณฑ์ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๐๔
(๓) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๔๖ ลงวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๕
ข้อ ๒ ห้ามมิให้ผู้ได้รับอนุญาตขายสุราประเภทที่ ๓ ถึงประเภทที่ ๖ ตามความในกฎหมายว่าด้วยสุรา หรือบุคคลใดซึ่งกระทำการเพื่อประโยชน์ของผู้ได้รับใบอนุญาตขายสุราดังกล่าวจำหน่ายสุราทุกชนิดในเวลาอื่น นอกจากตั้งแต่เวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกา ถึงเวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา และตั้งแต่เวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกา ถึงเวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกา เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมตำรวจสำหรับนครหลวงกรุงเทพธนบุรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับจังหวัดอื่น
ห้ามมิให้ผู้ใดดื่มสุราชนิดใด ๆ ณ สถานที่ขายสุราในกำหนดเวลาห้ามจำหน่ายสุรา เว้นแต่สถานที่ขายสุรานั้นได้รับอนุญาตให้จำหน่ายได้ตามวรรคหนึ่ง
การจำหน่ายสุราและดื่มสุราในสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้เปิดทำการได้เกินเวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกา ให้กระทำนอกเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง และวรรคสองได้เฉพาะหลังจากเวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกา จนถึงเวลาปิดทำการ
หลักเกณฑ์ เงื่อนไข หรือวิธีการเกี่ยวกับการขออนุญาต การอนุญาต การออกใบอนุญาต การแสดงใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การจำหน่ายสุราของผู้ได้รับใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมการออกและการต่ออายุใบอนุญาต ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ข้อ ๓ เมื่อปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้
(๑) ดำเนินกิจการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น
(๒) ยอมให้ผู้มีอาการเมาสุราจนประพฤติวุ่นวาย หรือครองสติไม่ได้ เข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ขายสุราระหว่างเวลาเปิดทำการ
(๓) จำหน่ายสุราให้แก่ลูกค้าที่มีอาการเมาสุราจนประพฤติวุ่นวาย หรือครองสติไม่ได้แล้ว
(๔) จำหน่ายสุรานอกเวลาที่กำหนดในใบอนุญาต
(๕) ฝ่าฝืนกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้
ให้ผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้มีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตได้
การสั่งพักใช้ใบอนุญาต ให้สั่งพักใช้ได้ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน
ข้อ ๔ ผู้ใดฝ่าฝืนข้อ ๒ วรรคหนึ่ง หรือจำหน่ายสุราในเวลาห้ามจำหน่ายระหว่างถูกพักใช้ใบอนุญาตตามข้อ ๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อ ๕ ผู้ใดฝ่าฝืนข้อ ๒ วรรคสอง หรือกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘๐ ลงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๕

โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า ตามที่ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๗๕ ลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยสุราเพื่อสะดวกแก่การจัดเก็บภาษีและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการค้าสุรานั้น บัดนี้ คณะปฏิวัติเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนั้นเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษีทุกฝ่าย
ข้อ ๑ ความในมาตรา ๘ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๗๕ ลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ มิให้ใช้บังคับแก่บรรดาสุราตามกฎหมายว่าด้วยสุราที่ได้เสียภาษีสุราตามอัตราที่ใช้อยู่ก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๗๕ ใช้บังคับ แต่ยังมิได้เสียภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร
ข้อ ๒ การเสียภาษีการค้าสำหรับสุราที่ได้เสียภาษีสุราตามความในข้อ ๑ ให้ปฏิบัติดังนี้
(๑) สำหรับสุราที่ได้ขายในระหว่างวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ถึงวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ ให้ผู้ประกอบการค้ายื่นแบบแสดงรายการการค้าและชำระภาษีการค้าตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ
(๒) สำหรับสุราที่ได้ขายภายหลังวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ ให้ผู้ประกอบการค้าปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๒๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕

โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า รายได้จากภาษีสุราและภาษีเครื่องดื่มของราชการส่วนท้องถิ่นยังไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม ซึ่งแต่เดิมกฎหมายกำหนดให้รายได้จากภาษีสุราและภาษีเครื่องดื่มตกเป็นรายได้ของราชการส่วนท้องถิ่นที่โรงงานสุราและโรงงานเครื่องดื่มตั้งอยู่ในเขตเท่านั้น ซึ่งความจริงประชาชนที่อยู่นอกเขตก็ได้บริโภคและเสียภาษีนี้ด้วย จึงสมควรปรับปรุงให้ราชการส่วนท้องถิ่นทุกแห่งได้รับส่วนแบ่งจากเงินรายได้ประเภทดังกล่าวโดยทั่วถึง
ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๒ (๓) (๕) แห่งพระราชบัญญัติรายได้เทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๘ ทวิ (๓) (๕) แห่งพระราชบัญญัติรายได้สุขาภิบาล พ.ศ. ๒๔๘๙ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติรายได้สุขาภิบาล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๓ และมาตรา ๔ (๓) (๕) แห่งพระราชกฤษฎีการายได้จังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๙ ออกตามความใน มาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๙
ข้อ ๒ ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีสุราตามกฎหมายว่าด้วยสุราและภาษีเครื่องดื่มตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเครื่องดื่ม เสียภาษีสุราและภาษีเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละสิบของภาษีประเภทนั้น ๆ
ภาษีสุราและภาษีเครื่องดื่มที่เสียเพิ่มขึ้นตามความในวรรคหนึ่ง เศษของหนึ่งสตางค์ให้ปัดทิ้ง
ข้อ ๓ ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่จัดเก็บภาษีสุราตามกฎหมายว่าด้วยสุรา และภาษีเครื่องดื่มตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเครื่องดื่ม ส่งมอบเงินภาษีที่เพิ่มขึ้นร้อยละสิบตามข้อ ๒ ให้แก่กระทรวงมหาดไทยโดยหักค่าใช้จ่ายไว้ร้อยละห้าของเงินที่เก็บได้
ข้อ ๔ ให้กระทรวงมหาดไทยจัดสรรเงินที่ได้รับตามข้อ ๓ ให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง และให้มีอำนาจวางระเบียบปฏิบัติเกี่ยวแก่การดำเนินการเพื่อให้ราชการส่วนท้องถิ่นได้รับเงินรายได้จากค่าภาษีสุราและภาษีเครื่องดื่ม
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๘ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕

โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยสุรา เพื่อให้มีการควบคุมการจำหน่ายและการมีไว้ในครอบครองซึ่งสุราเป็นไปโดยรัดกุม และแก้ไขบทกำหนดโทษให้เหมาะสมแก่สถานการณ์ปัจจุบัน
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๑

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ เนื่องจากอัตราภาษีสุรากลั่นตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้กำหนดไว้เป็นเวลานานมาแล้ว ไม่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน สมควรเพิ่มให้สูงขึ้นเพื่อประโยชน์ในด้านรายได้ของรัฐ และโดยที่เป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการภาษีอากร ซึ่งต้องพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ขึ้น
พระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๑
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีสุราให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตทำสุราในราชอาณาจักรที่ส่งสุราดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร เพื่อสนับสนุนให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำสุราส่งสุราออกไปขายแข่งขันกับสุราในต่างประเทศได้ และโดยที่เป็นการสมควรให้ผู้ได้รับอนุญาตเปลี่ยนแปลงสุราได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ได้รับอนุญาตเปลี่ยนแปลงภาชนะสุรา ด้วยการให้ปิดแสตมป์สุราที่ภาชนะบรรจุสุราใหม่โดยไม่ต้องเสียค่าภาษีสุราอีก ซึ่งในการนี้จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยสุรา จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
พระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๒๑
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากอัตราค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามกฎหมายว่าด้วยสุราได้ใช้มาเป็นเวลากว่ายี่สิบปีแล้วเป็นอัตราที่ไม่เหมาะสมกับภาวะทางเศรษฐกิจและค่าของเงินในปัจจุบัน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดอัตราให้สูงขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๓

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ เนื่องจากอัตราและระบบการจัดเก็บภาษีสุราแช่ประเภทเบียร์ ยังไม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และโดยที่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาเป็นการด่วนและลับ เพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๒๕
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่การเสียภาษีสุราในขณะนี้กระทำโดยการปิดแสตมป์สุราที่ภาชนะบรรจุสุราแต่เพียงอย่างเดียว แต่ในปัจจุบันมีวิธีการอย่างอื่นที่มีความรัดกุมและประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์แสตมป์สุราอันสมควรนำมาใช้แก่การเสียภาษีสุราได้ และโดยที่อัตราและระบบการจัดเก็บภาษีสุรากลั่นยังไม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงโดยเพิ่มอัตราตามมูลค่าขึ้นอีกอัตราหนึ่ง และโดยที่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาเป็นการด่วนและลับเพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน และเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๘
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่อัตราภาษีสุราตามที่กำหนดไว้ในปัจจุบันยังไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป สมควรปรับปรุงอัตราภาษีสุราเสียใหม่ และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้
พระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๓๔
มาตรา ๖ บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ และอัตราภาษีสุราที่กำหนดโดยกฎกระทรวงว่าด้วยการลดหย่อน หรือการเรียกเก็บภาษีสุราที่ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าวก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปสำหรับผู้ซื้อสุราหรือผู้ได้รับใบอนุญาตทำสุรา ที่มีสัญญาผูกพันกับกรมสรรพสามิตหรือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ก่อนวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ และในสัญญาดังกล่าวผู้ซื้อสุราหรือผู้ได้รับใบอนุญาตทำสุราต้องชำระเงินแก่รัฐบาลเป็นการเหมาจ่าย โดยรวมค่าภาษีสุราและค่าผลประโยชน์ หรือรวมค่าภาษีสุราและค่าสิทธิ หรือรวมค่าภาษีสุราและค่าธรรมเนียมพิเศษและค่าทดแทนโรงงานสุราเข้าด้วยกัน แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ จนกว่าสัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยเหตุเลิกสัญญาหรือสิ้นสุดอายุสัญญา
มาตรา ๗ บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้ยังคงใช้บังคับต่อไป สำหรับกรณีดังต่อไปนี้
(๑) สุราที่การปฏิบัติจัดเก็บภาษียังค้างอยู่หรือที่ถึงกำหนดชำระก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
(๒) สุราที่ทำในราชอาณาจักรและได้เสียภาษีสุราครบถ้วนแล้วโดยการปิดแสตมป์สุราหรือโดยวิธีอื่น แต่ยังมิได้ขนออกจากโรงงานสุราก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
(๓) สุราที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับที่ได้เสียภาษีสุราครบถ้วนแล้วโดยปิดแสตมป์สุรา แต่ยังมิได้นำออกจากอารักขาของศุลกากร
เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำสุราหรือผู้นำสุราเข้ามาในราชอาณาจักร ยื่นบัญชีรายละเอียดสุราตาม (๒) และ (๓) โดยแสดงรายการ ประเภท ชนิด และปริมาณ ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ พร้อมทั้งระบุสถานที่เก็บสุรานั้น และให้ยื่นบัญชีดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานสรรพสามิตแห่งท้องที่ที่โรงงานสุราตั้งอยู่ หรือต่อเจ้าพนักงานสรรพสามิตแห่งท้องที่ที่มีการนำเข้าสุรา แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ผู้ได้รับใบอนุญาตทำสุราหรือผู้นำเข้าสุราผู้ใด ไม่ปฏิบัติตามวรรคสองต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีการปรับปรุงระบบภาษีอากรของประเทศให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้ยกเลิกภาษีการค้าและนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้แทน สมควรปรับปรุงภาษีสุราเพื่อให้มีความสอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรดังกล่าว อีกทั้งเพื่อให้เกิดความสะดวกในการจัดเก็บ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๓๔
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีสุราใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากอัตราภาษีสุราตามบัญชีอัตราภาษีสุราและค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๘ ยังไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีสุราที่ได้ปรับปรุงแล้ว สมควรแก้ไขเพิ่มเติมอัตราภาษีสุราเสียใหม่สำหรับสุราที่ทำในราชอาณาจักรและที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรให้เป็นอัตราเดียวกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   085-0127724
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 
สรุปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสุรา สำหรับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย ฐานความผิด
บทกำหนดโทษ
กฎหมาย
หน่วยงาน

1
ขาย แลกเปลี่ยนหรือให้สุราหรือบุหรี่แก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เว้นแต่การปฏิบัติทางการแพทย์
-จำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกิน 30,000
พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา26(10)
กท.พัฒนาสังคมฯ
-เพิกถอนใบอนุญาต
กฎกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2548
กรมสรรพสามิต

2
ขายสุรานอกเวลาที่กำหนด(ให้ขาย 11.00-14.00 และ 17.00-24.00) -ปรับ 50 บาท
-พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขายสุราเป็นเวลา 5 ปี
พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 20, 46
กรมสรรพสามิต
-จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 ลาท
ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 253 พ.ศ. 2515 สนง.ตำรวจแห่งชาติ
3
ขายสุราในสถานที่ต่อเนื่องหรือติดกับสถานที่ดังกล่าว
- ในสถานศึกษา
- ศาสนาสถาน(วัดต่างๆ)
- สถานีบริการน้ำมัน
-เพิกถอนใบอนุญาต
-ไม่มีใบอนุญาต ปรับตามประเภทสุราที่ขาย
กฎกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2548
กรมสรรพสามิต

4
ไม่แสดงใบอนุญาตขายสุราไว้ในสถานที่ขายอย่างเปิดเผย
-ปรับ 2,000 บาท
กฎกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2548
กรมสรรพสามิต
5
ทำการเปลี่ยนแปลงสุรา (เช่นผสมยาดองเหล้าหรือวัตถุอื่นๆ)
-ผู้ขายส่ง ปรับ 2,000 บาท
-ผู้ขายปลีก ปรับ 500 บาท
พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 22,23,36,38
กรมสรรพสามิต

6
เก็บสุราไว้ที่อื่นซึ่งมิใช่สถานที่ขออนุญาตไว้
-ปรับ 500 บาท(เฉพาะผู้ขายส่ง)
พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 21, 38
กรมสรรพสามิต
7
ขายสุราไม่ตรงตามประเภทใบอนุญาตที่เจ้าพนักงานออกให้
-ปรับ 200 บาท
พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 40 ทวิ
กรมสรรพสามิต

8
ขายหรือนำสุราออกแสดงเพื่อขายโดยไม่ได้รับอนุญาตขายสุรา
-สุราไทยทุกชนิด ปรับ 500 บาท
-สุราต่างประเทศ ปรับ 2,000 บาท
พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 17, 40
กรมสรรพสามิต

9
ลักลอบผลิตสุราทุกชนิด(สุรากลั่น, สุราแช่, กระแช่ ฯลฯ)
-จำคุกไม่เกิน 6 เดือน
-ปรับไม่เกิน 5,000 บาท
พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 5, 30
กรมสรรพสามิต

10
ขายสุราที่ลักลอบผลิตขึ้นตามข้อ 9
-ปรับไม่เกิน 5,000 บาท
พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 31
กรมสรรพสามิต

11
ขนหรือเคลื่อนย้ายสุราแช่ และสุรากลั่นหนีภาษี
-จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 34
กรมสรรพสามิต

12
ขนหรือเคลื่อนย้าสุราทุกชนิดตั้งแต่ 10 ลิตรขึ้นไป โดยไม่มีใบอนุญาตให้ขนสุรากำกับไปด้วย
-ปรับลิตรละ 10 บาท ตามจำนวนสุราที่ขนหรือเคลื่อนย้าย
พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 14, 38 ทวิ
กรมสรรพสามิต

13
ขายหรือมีไว้เพื่อขาย สุราชุมชนหนีภาษี
-จำคุกไม่เกิน 6 เดือน
-ปรับ 4 เท่าของภาษีสุรา(ตามจำนวนสุราของกลาง)
พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 33
กรมสรรพสามิต

14
ขายหรือมีไว้เพื่อขาย สุราต่างประเทศหนีภาษี
-จำคุกไม่เกิน 6 เดือน
-ปรับ 4 เท่าของภาษีสุรา(ตามจำนวน ประเภท/ชนิดสุราของกลาง)
พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 33
กรมสรรพสามิต

15
ขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดงานเลี้ยงสุราทุกชนิดในเขตเลือกตั้งในระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง
-จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 มาตรา 130
-กระทรวงมหาดไทย
-คณะกรรมการการเลือกตั้ง

16
ขายสุรา หรือยินยอมปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอาการมึนเมาจนประพฤติวุ่นวายหรือครองสติไม่ได้ เข้าไปหรืออยู่ในสถานบริการระหว่างเวลาทำการ
-ปรับไม่เกิน 50,000 บาท
พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. 2509 มาตรา 16(2) (3) มาตรา 27
-กระทรวงมหาดไทย
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   085-0127724
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

กรุณาใช้ข้อความที่สุภาพ คุณสามารถบันทึกฉบับร่างได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้