ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : สรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

สรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542

แชร์กระทู้นี้

เป็นการสรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 โดยย่อเพื่อความเข้าใจได้ง่ายครับ  โดยแยกเป็นหมวดๆดังนี้

หมวด 1 บททั่วไป ความมุ่งหมายและหลักการ

พระราชบัญญัติฉบับนี้มีเจตนารมณ์ที่ต้องการเน้นย้ำว่าการจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข 

การจัดการศึกษา ให้ยึดหลักดังนี้ 
1) เป็นการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน 
2) ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา 
3) การพัฒนาสาระและกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง 


สำหรับเรื่องการจัดระบบ โครงสร้างและกระบวนการจัดการศึกษา ให้ยึดหลักดังนี้ 
1) มีเอกภาพด้านนโยบายและมีความหลากหลายในการปฏิบัติ 
2) มีการกระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น 
3) มีการกำหนดมาตรฐานการศึกษาและจัดระบบประกันคุณภาพการศึกษาทุก ระดับและประเภท 
4) มีหลักการส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพและการพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากร ทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง 
5) ระดมทรัพยากรจากแหล่งต่าง ๆ มาใช้ในการจัดการศึกษา 
6) การมีส่วนร่วมของบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอก
ชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น 

หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ทางการศึกษา

บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี ที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย 

- บุคคล ซึ่งมีความบกพร่องทางด้านต่าง ๆ หรือมีร่างกายพิการ หรือมีความต้องการเป็นพิเศษ หรือผู้ด้อยโอกาสมีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ 

- บิดามารดา หรือผู้ปกครองมีหน้าที่จัดให้บุตรหรือบุคคลในความดูแลได้รับการศึกษาทั้งภาคบังคับ และนอกเหนือจากภาคบังคับตามความพร้อมของครอบครัว 

- บิดามารดา บุคคล ชุมชน องค์กร และสถาบันต่าง ๆ ทางสังคมที่สนับสนุนหรือจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ตามควรแก่กรณีดังนี้

- การสนับสนุนจากรัฐให้มีความรู้ ความสามารถในการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรหรือผู้ซึ่งอยู่ในความดูแล รวมทั้งเงินอุดหนุนสำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน

- การลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายการศึกษา 

หมวด 3 ระบบการศึกษา 

การจัดการศึกษามีสามรูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สถานศึกษาจัดได้ทั้งสามรูปแบบ และให้มีการเทียบโอนผลการเรียนที่ผู้เรียนสะสมไว้ระหว่างรูปแบบเดียวกันหรือต่างรูปแบบได้ ไม่ว่าจะเป็นผลการเรียนจากสถานศึกษาเดียวกันหรือไม่ก็ตาม การศึกษาในระบบมีสองระดับ คือ การศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งจัดไม่น้อยกว่า 12 ปี ก่อนระดับอุดมศึกษา และระดับอุดมศึกษา ซึ่งแบ่งเป็นระดับต่ำกว่าปริญญา และระดับปริญญา 
ให้มีการศึกษาภาคบังคับเก้าปี นับจากอายุย่างเข้าปีที่เจ็ด จนอายุย่างเข้าปีที่สิบหก หรือเมื่อสอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับ 
- สำหรับเรื่องสถานศึกษานั้น การศึกษาปฐมวัย และการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้จัดใน 
1) สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย 
2) โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนของรัฐ เอกชน และโรงเรียนที่สังกัดสถาบันศาสนา 
3) ศูนย์การเรียน ได้แก่ สถานที่เรียนที่หน่วยงานจัดการศึกษานอกโรงเรียน บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ สถานสงเคราะห์ และสถาบันสังคมอื่นเป็นผู้จัด 

- การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ให้จัดในมหาวิทยาลัย สถาบัน วิทยาลัย หรือ หน่วยงานทื่เรียกชื่ออย่างอื่น ทั้งนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

- การจัดการอาชีวศึกษา การฝึกอบรมวิชาชีพ ให้จัดในสถานศึกษาของรัฐ สถาน ศึกษาของเอกชน สถานประกอบการ หรือโดยความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ อาจจัดการศึกษา เฉพาะทางตามความต้องการและความชำนาญของหน่วยงานนั้นได้โดยคำนึงถึงนโยบายและมาตรฐานการศึกษาของชาติ 

หมวด 4 แนวการจัดการศึกษา 

การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ผู้เรียนทุกคน สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ ดังนั้นกระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียน ได้พัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ การจัดการศึกษาทั้งสามรูปแบบในหมวด 3 ต้องเน้นทั้งความรู้ คุณธรรม และ กระบวนการเรียนรู้ ในเรื่องสาระความรู้ ให้บูรณาการความรู้และทักษะด้านต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับแต่ ละระดับการศึกษา ได้แก่ ด้านความรู้เกี่ยวกับตนเองและความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสังคม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านศาสนา ศิลป วัฒนธรรม การกีฬา ภูมิปัญญาไทย และการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา ด้านภาษา โดยเฉพาะการใช้ภาษาไทย ด้านคณิตศาสตร์ ด้านการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ในเรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมที่สอดคล้องกับ ความสนใจ ความถนัดของผู้เรียน และความแตกต่างระหว่างบุคคล รวมทั้งให้ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการการเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้มาใช้ป้องกันและแก้ปัญหา จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติจริง ผสมผสานสาระความรู้ด้านต่าง ๆ อย่างสมดุล และปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดี คุณลักษณะอันพึงประสงค์ในทุกวิชา นอกจากนั้น ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ยังต้องส่งเสริมให้ผู้สอน จัดบรรยากาศ และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อและแหล่งวิทยาการประเภทต่าง ๆ จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือกับผู้ปกครองและชุมชน รวมทั้งส่งเสริมการดำเนินงาน และการจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบ การประเมินผลผู้เรียน ให้สถานศึกษาพิจารณาจากพัฒนาการของผู้เรียน ความ ประพฤติ การสังเกตพฤติกรรมการเรียน การร่วมกิจกรรม และการทดสอบ ส่วนการจัดสรรโอกาสการเข้าศึกษาต่อ ให้ใช้วิธีการที่หลากหลายและนำผลการประเมินผู้เรียนมาใช้ประกอบด้วย หลักสูตรการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท ต้องมีความหลากหลาย โดยส่วน กลางจัดทำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เน้นความเป็นไทยและความเป็นพลเมืองดี การดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อและให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดทำหลักสูตรในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และคุณลักษณะของสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชนสังคมและประเทศชาติ สำหรับหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษาเพิ่มเรื่องการพัฒนาวิชาการ วิชาชีพชั้นสูงและการค้นคว้าวิจัย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และสังคมศึกษา 

หมวด 5 การบริหารและการจัดการศึกษา 

ส่วนที่ 1 การบริหารและการจัดการศึกษาของรัฐ


แบ่งเป็นสามระดับ คือ ระดับชาติ ระดับเขตพื้นที่การศึกษาและระดับสถานศึกษา เพื่อเป็นการกระจายอำนาจลงไปสู่ท้องถิ่น และสถานศึกษาให้มากที่สุด 

1.1 ระดับชาติ 

ให้มีกระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม มีอำนาจหน้าที่ กำกับดูแลการศึกษาทุกระดับและทุกประเภทรวมทั้ง การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม กำหนดนโยบาย แผน และมาตรฐานการศึกษาสนับสนุนทรัพยากรรวมทั้งการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการจัดการศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม 
กระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม มีองค์กรหลักที่เป็นคณะ บุคคลในรูปสภาหรือคณะกรรมการสี่องค์กร คือ 
-สภาการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมแห่งชาติ 
-คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 
-คณะกรรมการการอุดมศึกษา 
-คณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม 

-มีหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นหรือให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรี หรือคณะรัฐ มนตรีและมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด 

-ให้สำนักงานของทั้งสี่องค์กรเป็นนิติบุคคล มีคณะกรรมการแต่ละองค์กร ประกอบด้วยกรรมการ โดยตำแหน่งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนองค์กรเอกชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรวิชาชีพ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนกรรมการประเภทอื่นรวมกัน มีเลขาธิการของแต่ละสำนัก
งาน เป็นกรรมการและเลขานุการ 

-สภาการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมแห่งชาติ มีหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบาย แผน และมาตรฐานการศึกษาของชาติ นโยบายและแผนด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม การสนับสนุนทรัพยากร การประเมินผลการจัดการศึกษา การดำเนินการด้านศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม รวมทั้งการพิจารณากลั่นกรองกฎหมายและกฎกระทรวง 

-คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบาย แผนพัฒนา มาตรฐานและหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สอดคล้องกับแผนการศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติ การสนับสนุนทรัพยากร การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 

-คณะกรรมการการอุดมศึกษา มีหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบาย แผนพัฒนา และมาตรฐานการอุดมศึกษาที่สอดคล้องกับแผนการศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติ การสนับสนุนทรัพยากร การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยคำนึงถึงความเป็นอิสระตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถานศึกษาแต่ละแห่ง 

-คณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม มีหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบายและแผนพัฒนาที่สอดคล้องกับแผนการศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติ การสนับสนุนทรัพยากร การติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินการด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษาระดับปริญญาเป็นนิติบุคคล ดำเนินการจัดการศึกษาและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาสถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถานศึกษานั้น ๆ 

1.2 ระดับเขตพื้นที่การศึกษา 

การบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอุดมศึกษาระดับต่ำ กว่าปริญญา ให้ยึดเขตพื้นที่การศึกษาโดยคำนึงถึงปริมาณสถานศึกษา และจำนวนประชากรเป็นหลัก รวมทั้งความเหมาะสมด้านอื่นด้วย ในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาให้มีคณะกรรมการและสำนักงานการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมเขตพื้นที่การศึกษา ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญา ประสานส่งเสริมและสนับสนุนสถานศึกษาเอกชนในเขตพื้นที่การศึกษาประสานและส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถจัดการศึกษาสอดคล้องกับนโยบายและมาตรฐานการศึกษา ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาของบุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่นที่จัดการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลาย รวมทั้งการกำกับดูแลหน่วยงานด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมในเขตพื้นที่การศึกษา คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา ประกอบด้วยผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กรเอกชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพครู และผู้ประกอบวิชาชีพบริหารการศึกษา ผู้แทนสมาคมผู้ปกครองและครู ผู้นำทางศาสนาและผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม โดยให้ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมเขตพื้นที่การศึกษาเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการ 

1.3 ระดับสถานศึกษา 

ให้แต่ละสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และสถานศึกษาอุดมศึกษาระดับ ต่ำกว่าปริญญา มีคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อทำหน้าที่กำกับและส่งเสริมสนับสนุนกิจการของสถานศึกษาและจัดทำสาระของหลักสูตรในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคมภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์ คณะกรรมการสถานศึกษาประกอบด้วย ผู้แทน ผู้ปกครอง ผู้แทนครู ผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนศิษย์เก่าของสถานศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิ และให้ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการ ทั้งนี้ ให้กระทรวงกระจายอำนาจ ทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไป ไปยังคณะกรรมการและสำนักงานการศึกษาฯ เขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรง 

ส่วนที่ 2 การบริหารและการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการศึกษาได้ทุกระดับและทุกประเภทตามความพร้อม ความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่น เพื่อเป็นการรองรับสิทธิและการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินความพร้อม รวมทั้งประสานและส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาได้ 

ส่วนที่ 3 การบริหารและการจัดการศึกษาของเอกชน 

สถานศึกษาเอกชนเป็นนิติบุคคลจัดการศึกษาได้ทุกระดับและทุกประเภท มีคณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วยผู้บริหารสถานศึกษาเอกชน ผู้รับใบอนุญาต ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนครู ผู้แทนศิษย์เก่าและผู้ทรงคุณวุฒิ การบริหารและการจัดการศึกษาของเอกชนให้มีความเป็นอิสระ โดยมีการกำกับ ติดตาม ประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาจากรัฐ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาเช่นเดียวกับสถานศึกษาของรัฐ รวมทั้งรัฐต้องให้การสนับสนุนด้านวิชาการและด้านเงินอุดหนุน การลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี รวมทั้งสิทธิประโยชน์อื่นตามความเหมาะสม ทั้งนี้ การกำหนดนโยบายและแผนการจัดการศึกษาของรัฐของเขตพื้นที่การศึกษา หรือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้คำนึงถึงผลกระทบต่อการจัดการศึกษาของเอกชน โดยให้รับฟังความคิดเห็นของเอกชน และประชาชนประกอบการพิจารณาด้วย ส่วนสถานศึกษาของเอกชนระดับปริญญา ให้ดำเนินกิจการโดยอิสระภายใต้การกำกับดูแลของสภาสถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน 

หมวด 6 มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา

ให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาทุกระดับ ประกอบด้วย ระบบการประกันคุณภาพภายใน และระบบการประกันคุณภาพภายนอก หน่วยงานต้นสังกัด และสถานศึกษา จัดให้มีระบบการประกับคุณภาพภายใน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบริหาร และจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเปิดเผยต่อสาธารณชน ให้มีการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาทุกแห่งอย่างน้อยหนึ่งครั้งทุกห้าปี โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ซึ่งเป็นองค์การมหาชนทำหน้าที่พัฒนาเกณฑ์วิธีการประเมินและจัดให้มีการประเมินดังกล่าว รวมทั้งเสนอผลการประเมินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน ในกรณีที่ผลการประเมินภายนอกไม่ได้มาตรฐานให้สำนักงานรับรองมาตรฐานฯ จัดทำข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานต้นสังกัด ให้สถานศึกษาปรับปรุง ภายในระยะเวลาที่กำหนด หากมิได้ดำเนินการ ให้สำนักงานรับรองมาตรฐานฯ รายงานต่อคณะกรรมการต้นสังกัด เพื่อให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขต่อไป 

หมวด 7 ครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา 

ให้กระทรวงส่งเสริมให้มีระบบ กระบวนการผลิตและพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง โดยรัฐจัดสรรงบประมาณและกองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาอย่างเพียงพอ มีกฎหมายว่าด้วยเงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการ ฯลฯ ให้มีองค์กรวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษา เป็นองค์กรอิสระมีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ออกและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ รวมทั้งกำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ 

ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาอื่นทั้งของรัฐและเอกชน ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ทั้งนี้ ยกเว้น ผู้ที่จัดการศึกษาตามอัธยาศัย จัดการศึกษาในศูนย์การเรียน วิทยากรพิเศษ และผู้บริหารการศึกษาระดับเหนือเขตพื้นที่การศึกษา 

ให้ข้าราชการของหน่วยงานทางการศึกษาในระดับสถานศึกษาและระดับเขตพื้นที่การศึกษาเป็นข้าราชการในสังกัดองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู ตามหลักการกระจายอำนาจการบริหารงานบุคคลสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา 

การผลิตและพัฒนาคณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา การพัฒนามาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ และการบริหารงานบุคคลของข้าราชการหรือพนักงานของรัฐในสถานศึกษาระดับปริญญาที่เป็นนิติบุคคลให้เป็นไปตามกฎหมายเฉพาะของสถานศึกษานั้น ๆ 

หมวด 8 ทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา 

ให้มีการระดมทรัพยากรและการลงทุนด้านงบประมาณ การเงิน และทรัพย์สิน ทั้งจากรัฐ องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ สถาบันสังคมอื่นและต่างประเทศมาใช้จัดการศึกษา โดยให้รัฐและองค์กรปกครองส่วน
ท้องถิ่น ใช้มาตรการภาษีส่งเสริมและให้แรงจูงใจ รวมทั้งใช้มาตรการลดหย่อน หรือยกเว้นภาษีตามความเหมาะสม 

สถานศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคล มีอำนาจในการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้และจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของสถานศึกษา ทั้งที่เป็นที่ราชพัสดุ และที่เป็นทรัพย์สินอื่น รวมทั้งหารายได้จากบริการของสถานศึกษาที่ไม่ขัดกับภารกิจหลักอสังหาริมทรัพย์ที่สถานศึกษาของรัฐได้มา ทั้งจากผู้อุทิศให้หรือซื้อหรือแลกเปลี่ยนจากรายได้ของสถานศึกษา ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของสถานศึกษา บรรดารายได้และผลประโยชน์ต่าง ๆ ของสถานศึกษาของรัฐดังกล่าว ไม่เป็นรายได้ที่ต้องส่งกระทรวงการคลัง 

ให้สถานศึกษาของรัฐที่ไม่เป็นนิติบุคคล สามารถนำรายได้และผลประโยชน์ต่าง ๆ มาจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาของสถาบันนั้น ๆ ได้ตามระเบียบที่กระทรวงการคลังกำหนด 

ให้รัฐจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้กับการศึกษา โดยจัดสรรให้ผู้เรียนและสถานศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชน ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ในรูปเงินอุดหนุนทั่วไปเป็นค่าใช้จ่ายรายบุคคล กองทุนประเภทต่าง ๆ และทุนการศึกษา รวมทั้งให้มีระบบการตรวจสอบ ติดตามและประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการใช้จ่ายงบ
ประมาณการจัดการศึกษาด้วย 

หมวด 9 เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

รัฐจัดสรรคลื่นความถี่ สื่อตัวนำและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ วิทยุโทรคมนาคม และการสื่อสารในรูปอื่นเพื่อประโยชน์สำหรับการศึกษา การทะนุบำรุง ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมตามความจำเป็น รัฐส่งเสริมสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนา การผลิตและพัฒนาแบบเรียน ตำรา สื่อสิ่งพิมพ์อื่น วัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอื่น โดยจัดให้มีเงินสนับสนุนและเปิดให้มีการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม รวมทั้งการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา 

ให้มีการพัฒนาบุคลากรทั้งด้านผู้ผลิตและผู้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในโอกาสแรกที่ทำได้ อันจะนำไปสู่การแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต 

ให้มีการระดมทุน เพื่อจัดตั้งกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา จากเงินอุดหนุนของรัฐ ค่าสัมปทานและผลกำไรที่ได้จากการดำเนินกิจการ ด้านสื่อสารมวลชขน เทคโนโลยีสารสนเทศ และโทรคมนาคมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรประชาชน รวมทั้งให้มีการลดอัตราค่าบริการเป็นพิเศษในการใช้เทคโนโลยี 

ให้มีหน่วยงานกลาง ทำหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบาย แผน ส่งเสริม และประสานการวิจัย การพัฒนาและการใช้ รวมทั้งการประเมินคุณภาพและประสิทธิภาพของการผลิตและการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

บทเฉพาะกาล 

1. นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ 
- ให้กฏหมาย ข้อบังคับ คำสั่ง ฯลฯ เกี่ยวกับการศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒน ธรรมเดิมที่ใช้อยู่ยังคงใช้บังคับ ได้ต่อไป จนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินห้าปี 
- ให้กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานการศึกษาและสถานศึกษาที่มีอยู่ ยังคงมี ฐานะและอำนาจหน้าที่เช่นเดิม จนกว่าจะจัดระบบการบริหารและการจัดการศึกษาใหม่ตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินสามปี 
- ให้ดำเนินการออกกฎกระทรวง เพื่อแบ่งระดับและประเภทการศึกษาของการ ศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งการแบ่งระดับหรือการเทียบระดับการศึกษานอกระบบหรือการศึกษาตามอัธยาศัยให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี . 

2. ในวาระเริ่มแรก มิให้นำ
- บทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสิบสองปี และการศึกษาภาค บังคับเก้าปี มาใช้บังคับ จนกว่าจะมีการดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินห้าปี นับจากวันที่รัฐธรรมนูญใช้บังคับ และภายในหกปี ให้กระทรวงจัดให้สถานศึกษาทุกแห่ง มีการประเมินผลภายนอกครั้งแรก 
- นำบทบัญญัติในหมวด 5 การบริหารและการจัดการศึกษา และหมวด 7 ครู คณาจารย์และบุคลากรทางการ ศึกษามาใช้บังคับจนกว่าจะมีการดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินสามปี 
- ทั้งนี้ขณะที่การจัดตั้งกระทรวงยังไม่แล้วเสร็จให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ออกกฎกระทรวงระเบียบ และประกาศเพื่อปฏิรูปตามพระราชบัญญัตินี้ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตน รวมทั้งให้กระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ทำหน้าที่กระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้วแต่กรณี 

3. ให้จัดตั้งสำนักงานปฏิรูปการศึกษา เป็นองค์การมหาชนเฉพาะกิจ ทำหน้าที่ 
- เสนอการจัดโครงสร้าง องค์กร การแบ่งส่วนงาน ตามสาระบัญญัติในหมวดที่ว่า ด้วยการบริหารและการจัดการศึกษา การจัดระบบครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา การจัดระบบทรัพยากร และการลงทุนเพื่อการศึกษา 
- เสนอร่างกฎหมาย และปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ และคำสั่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดโครงสร้างและระบบต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัตินี้ 
- ตามอำนาจหน้าที่อื่นที่กำหนดในกฎหมายองค์การมหาชน 

4. คณะกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษามีเก้าคน
 ประกอบด้วย ประธานกรรมการและกรรมการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญ ด้านการบริหาร การศึกษา การบริหารรัฐกิจ การบริหารงานบุคคล การงบประมาณการเงินและการคลัง กฎหมายมหาชน และกฎหมายการศึกษา ทั้งนี้ ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมิใช่ข้าราชการหรือผู้ปฎิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ ไม่น้อยกว่าสามคน ให้เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปการศึกษา เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการและเลขาธิการมีวาระการตำแหน่งวาระเดียว เป็นเวลาสามปี 

ทั้งนี้ ให้มีคณะกรรมการสรรหา จำนวนสิบห้าคน ทำหน้าที่เสนอชื่อบุคคลที่สมควร เป็นคณะกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา จำนวนสิบแปดคนเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูป จำนวนเก้าคน
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   085-0127724
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 
พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542
                   มาตรา 22   การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ   ในมาตรานี้กล่าวถึงนักเรียนเป็นผู้สามารถเรียนรู้ได้ พัฒนาตนเองได้ และให้ยึดนักเรียนเป็นสำคัญ
                  ปรัชญาการศึกษาที่เกี่ยวข้อง
                  1. ปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยม เป็นลัทธิที่มีความเชื่อว่านักเรียนเป็นคนที่สำคัญและมีเสรีภาพมากที่สุด ครูเป็นเพียงผู้แนะนำกระตุ้นช่วยเหลือนักเรียน การจัดการเรียนการสอนไม่กำหนดระเบียบแบบแผนให้นักเรียนปฏิบัติ แต่ให้มีความรับผิดชอบและยอมรับผลการกระทำของตนเอง เนื้อหาวิชาเน้นวิชาศิลปศาสตร์ เพราะทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้กว้างขวาง และรู้จักตัวเองได้มาก โรงเรียนเน้นเรื่องศีลธรรมและจริยธรรม ซึ่งไม่แตกต่างไปจากชีวิตจริงในชีวิตประจำวัน
                   2. ปรัชญาการศึกษา พิพัฒนาการนิยม ได้กล่าวถึงกระบวนการเรียนการสอน ถือหลักว่า ผู้เรียนควรมีบทบาทด้วยตัวเองมากที่สุด การเรียนควรเป็นเรื่องของการกระทำมากกว่าความรู้ เด็กจะต้องกระตือรือร้นในการเรียนมากกว่าคอยรับแต่หรืออยู่เฉย ครูจะเป็นผู้จัดประสบการณ์เรียนรู้ให้ผู้เรียน ให้ผู้เรียนได้รู้จักที่จะแก้ไขปัญหาของตนเองและของสังคม
                  3. ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม กล่าวว่า การเรียนการสอนตามแนวคิดของทฤษฎีการศึกษานี้ยึดหลักวิชาที่ว่าด้วยสมรรถภาพ ที่เชื่อว่าสมองของมนุษย์นั้นประกอบด้วยสามส่วน คือ ส่วนที่เป็นเหตุผล ส่วนที่เป็นความจำ และส่วนที่เป็นเจตจำนง ทั้งสามส่วนเป็นศูนย์รวมแห่งวุฒิปัญญา ดังนั้นการพัฒนาส่วนประกอบของสมองทั้งสามส่วนนั้นจึงเป็นหลักสำคัญ การเรียนการสอนที่จะพัฒนาวุฒิปัญญาวิธีการที่สำคัญคือการถกเถียงอธิบายการใช้เหตุผลสติปัญญาโต้แย้งกัน(ไพฑูรย์ สินลารัตน์. 2522:57)ผู้สอนจะมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำในการเสนอความคิด เป็นผู้นำในการอภิปราย ถกเถียง เป็นผู้คอยให้ความคิด และสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ใช้ความรู้ ความคิดและสติปัญญาของตนเองอย่างเต็มที่ (บรรจง จันทรสา. 2522 : 175) กล่าวถึงหลักการเรียนการสอนที่สำคัญของทฤษฎีการศึกษานี้ไว้สามประการ คือ ประการที่หนึ่งเรียนโดยอาศัยวุฒิปัญญาในการจดจำและหยั่งรู้ ประการที่สองสอนโดยการฝึกฝนท่องจำเพื่อพัฒนาวุฒิปัญญา และประการที่สามฝึกฝนการคิดอย่างมีเหตุผล ฝึกการเรียนหนักและทำงานที่ยาก ๆ เพื่อสร้างเจตจำนงที่แน่วแน่
                4. พุทธปรัชญา ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถคิดเป็นตลอดจนมีความรับผิดชอบและสมรรถภาพทั้งปวง อันจะเป็นเครื่องมือในการดับทุกข์หรือแก้ปัญหาและปรับปรุงสภาพของสังคมและตัวมนุษย์เอง



                  มาตรา 23 การจัดการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้บูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษาในเรื่องต่อไปนี้
                  (1) ความรู้เรื่องเกี่ยวกับตนเอง และความสัมพันธ์ของตนเองกับสังคม ได้แก่ ครอบครัว ชุมชน ชาติ และสังคมโลก รวมถึงความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสังคมไทย และระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
                  (2) ความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เรื่องการจัดการการบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน
                   (3) ความรู้เกี่ยวกับศาสนา ศิลปวัฒนธรรม การกีฬา ภูมิปัญญาไทยและการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา
                  (4) ความรู้และทักษะคณิตศาสตร์และด้านภาษา เน้นการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง
                  (5) ความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข
                 ในมาตรา 23 นี้ กล่าวถึงเนื้อหาสาระหรือทิศทางของหลักสูตรโดยแบ่งเป็น 5 กลุ่ม โดยกำหนดเนื้อหาสาระของหลักสูตรตามระดับ ประเภท ของการศึกษา และความถนัดของบุคคล
ปรัชญาการศึกษาการศึกษาที่เกี่ยวข้อง
                   1. ปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยม ซึ่งกล่าวถึงหลักสูตรการเรียนการสอนว่า หลักสูตร เป็นหลักสูตรแบบเนื้อหาวิชาและหลักสูตรแบบสหสัมพันธ์ด้านเนื้อหาวิชาจะต้องเป็นเนื้อหาวิชาที่ให้เด็กได้รู้จักโลกของเราตามสภาพที่เป็นจริง ดังนั้นเนื้อหาวิชาจะต้องได้รับการกลั่นกรองรวบรวมไว้อย่างดีมีเหตุมีผล ไม่ใช่สิ่งที่เด็กค้นหาหรือคิดฝันเอาเองตามใจชอบ นอกจากนี้ทฤษฎีนี้ยังมุ่งเน้นในเรื่องการถ่ายทอดมรดกทางสังคมด้วย เพราะมรดกทางสังคมนี้จะเป็นการสรุปรวบรวมเอาประสบการณ์ต่าง ๆ ของคนจำนวนมากมายไว้เป็นประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือได้มากกว่าความรู้จากประสบการณ์ของเด็ก ( กิติมา ปรีดีดิลก 2520 : 75)
                   2. ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม กล่าวถึงหลักสูตรการเรียนการสอนว่าหลักสูตรควรประกอบด้วยเนื้อหาวิชาที่กำหนดไว้ตายตัว ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความยืดหยุ่นหรือการเปลี่ยนแปลง เน้นวิชาด้านศิลปศาสตร์ เพราะวิชาในข่ายของศิลปศาสตร์จะช่วยฝึกฝนผู้เรียนให้รู้จักเหตุผลและฝึกฝนผู้เรียนให้รู้จักใช้เหตุผลและฝึกฝนทางด้านสติปัญญาประกอบกันและโดยทั่วไปวิชาศิลปศาสตร์จะแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มศิลปทางภาษา ได้แก่ ไวยากรณ์ วาทศิลป์และตรรกวิทยา ซึ่งฝึกฝนการใช้เหตุผล และกลุ่มศิลปทางคำนวณ ได้แก่ เรขาคณิต ดาราศาสตร์ และดนตรี กลุ่มนี้มุ่งฝึกฝนสติปัญญาการจัดทำหลักสูตรกำหนดโดยผู้รู้ ส่วนการจัดลำดดับเนื้อหาวิชาเน้นวิธีการจัดลำดับเนื้อหาก่อนหลังของความถูกต้องทางวิชาการ ความรู้สาขานั้น ๆ ในปัจจุบันหลักสูตรที่เกิดขึ้นตามแนวคิดของทฤษฎีการศึกษานี้มองเห็นเด่นชัด และจัดกันทั่วไปในสถาบันอุดมศึกษา คือ หลักสูตรวิชาพื้นฐานหรือหลักสูตรการศึกษาทั่วไป และตามแนวคิดของนักการศึกษาแล้วมองเห็นว่า สถาบันอุดมที่ทำหน้าที่ในการผลิตครูจะเน้นหลักสูตรศิลปศาสตร์เป็นส่วนสำคัญของการจัดการศึกษาเช่นกัน
                 3. ปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม ซึ่งกล่าวถึงหลักสูตรว่า หลักสูตร เนื่องจากปรัชญาสาขานี้ ไม่เน้นมรดกทางวัฒนธรรมและสังคมเหมือนกับสาขาก่อน ๆ แต่เน้นในสภาพปัจจุบันโดยเฉพาะการมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขและสมบูรณ์ในปัจจุบันและอนาคต หรือมาตรฐานความดีงามของสังคมก็จะต้องได้รับการทดสอบและปรับปรุงเปลี่ยนไปตามประสบการณ์ การศึกษาจึงต้องส่งเสริมความสนใจของแต่ละบุคคลและเป็นประชาธิปไตย ประสบการณ์และความสนใจของคนจะเปลี่ยนแปลงไปตามประสบการณ์ที่ได้รับใหม่และวิเคราะห์แล้ว
                 4. ปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยม ซึ่งกล่าวถึงหลักสูตรว่า ในการจัดหลักสูตร ลัทธิอัตถิภววาทนิยมจะเน้นทางศิลปะ จรรยา มารยาท ประวัติศาสตร์ วรรณคดี ปรัชญา เป็นต้น ทุกวิชามีความสำคัญ ถ้าใครเห็นว่าวิชาใดที่จะช่วยให้รู้จักตัวเองและเข้าใจโลกได้ดีขึ้นถือว่าวิชานั้นย่อมเหมาะสมกับเขา ผู้เรียนมีสิทธิและอำนาจเต็มที่ในการเลือกวิชาเรียน ครูมีหน้าที่เพียงเป็นคนคอยกระตุ้นหรือเร้าให้ผู้เรียนรู้จักตนเอง สามารถนำศักยภาพของตนเองมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด (ศุภร ศรีแสน : 154 – 155) ทางด้านศิลปศึกษา ครูควรให้โอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนศิลปแบบต่าง ๆ โดยเน้น Self expression ซึ่งเป็นผลดีแก่ผู้เรียน เพราะได้แสดงออกตามความสามารถของตนเอง มีความคิดอิสระในการทำงาน มีความสุขกายและสบายใจในการปฏิบัติงาน มีความอิสระและสามารถที่จะปรับปรุงตนเองให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆได้ ผู้เรียนมีโอกาสได้พัฒนาในด้านต่าง ๆ และประสบผลสำเร็จในการสร้างสรรค์ มีความเชื่อมั่นในตนเองและมีความสุขในการทำงาน
                   5. ปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม ได้กล่าวถึงหลักสูตรไว้ว่า หลักสูตร หลักสูตรตามปรัชญาสาขานี้เป็นหลักสูตรที่เน้นสังคมเป็นหลักผู้เรียนจะต้องรู้จักและเข้าใจสภาพของสังคมอย่างดีพอ มองเห็นปัญหาต่าง ๆ ในสังคม และแนวทางในการแก้ไข โดยทั่วไปหลักสูตรในสาขานี้จะประกอบไปด้วยกลุ่มต่าง ๆ คือ
                    กลุ่มปฐมนิเทศและสร้างแรงจูงใจ ประกอบด้วยเรื่องต่าง ๆ ที่ใกล้ตัวผู้เรียน ตามด้วยปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน และขยายออกไปถึงปัญหาต่าง ๆ ในสังคมที่กว้างออกไปจนถึงระดับประเทศและระดับนานาชาติ เป็นการขยายทัศนะของผู้เรียนให้กว้างขวางขึ้นทั้งในด้านขอบเขตและความเป็นมา
                     กลุ่มเศรษฐกิจและการเมือง ศึกษาถึงเรื่องราวของเศรษฐกิจและการเมืองในท้องถิ่นใกล้ตัวของผู้เรียน ทั้งในแง่ของสภาพปัจจุบันและความเป็นมา แล้วจึงขยายให้กว้างออกไปถึงสังคมโลกในจำนวนปีที่สูงขึ้น
                      กลุ่มทางวิทยาศาสตร์ ศึกษาถึงบทบาทของวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน ความแตกต่างของวิทยาศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ธรรมชาติกับวิทยาศาสตร์สังคม เป็นต้น รวมทั้งปัญหาที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ด้านต่าง ๆ
                     กลุ่มศิลปะ ชีวิตมนุษย์จะหนีจากศิลปะไปไม่ได้ เด็กควรจะได้เรียนศิลปะและเข้าใจกับบทบาทในชีวิตประจำวันและแนวทางในอนาคตควบคู่กันไปด้วย
กลุ่มการศึกษา เด็กควรได้เข้าใจ รู้จักบทบาทและกระบวนการต่าง ๆ ของการศึกษา รู้จักและวิเคราะห์สภาพการณ์ต่าง ๆ ในโรงเรียนได้ เป็นต้น
                      กลุ่มมนุษยสัมพันธ์ วิชานี้ควรให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ระหว่างกลุ่ม และระหว่างวัฒนธรรมด้วย
                      กลุ่มเทคนิคและวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจถึงคุณค่าและรูปแบบของวิธีการที่ให้บรรลุจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งวิธีการและจุดมุ่งหมายควรสอดคล้องกัน
เนื้อหาในแต่ละกลุ่มในสภาพปัจจุบันและความเป็นมาพร้อมกันไป ซึ่งทำให้ผู้เรียนเข้าใจปัญหา และมองเห็นสาเหตุของปัญหาได้ชัดเจน และศึกษาจากสภาพที่ใกล้ตัวขยายออกไปถึงสังคมวงนอก นอกจากนั้นในแต่ละระดับก็จะจัดเนื้อหาให้มีความซับซ้อนแตกต่างกันออกไป ในระดับมหาวิทยาลัยควรจะเน้นการวิจัยเป็นพิเศษ
                     6. พุทธปรัชญา ให้ผู้เรียนเกิดคุณธรรมและศีลธรรมขึ้นในใจ สำหรับช่วยสร้างสัมพันธภาพอันดีในหมู่มนุษย์ก่อให้เกิดสันติสุขในสังคม เป็นผู้มีความรุและทักษะในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข

                  มาตรา 24 การจัดกระบวนการเรียนรู้
                 (1) จัดเนื้อหาของสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของ ผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
                (2) ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา
                (3) จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่าน และเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง
               (4) จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่าง ๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา
               (5) ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียนและอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยากรประเภทต่าง ๆ
               (6) การจัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือกับบิดามารดา ผู้ปกครองและบุคคลในชุมชนทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ
ลัทธิปรัชญาการศึกษาที่เกี่ยวข้อง
               1. ปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยม กล่าวถึงกระบวนการเรียนการสอนว่า กระบวนการเรียนการสอน โรงเรียนจะต้องยึดหลักการอบรมจิตใจเด็กให้มีระเบียบวินัยอันดีงามตามที่ยึดถือกันมา นอกจากนี้เด็กควรได้รับการสอนเกี่ยวกับความคิดที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งความคิดนั้นจะได้รับการประยุกต์ให้เหมาะสมกับระดับจิตใจและสติปัญญาของเด็ก ไม่เห็นด้วยกับวิธีการสอนแบบแก้ปัญหา เพราะว่าวิธีการแก้ปัญหานี้ไม่สามารถใช้กับเนื้อหาวิชาทุกอย่าง ความรู้ในเนื้อหาวิชา   ต่าง ๆ ย่อมมีลักษณะแตกต่างกันออกไปและก็มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นนามธรรมซึ่งความรู้ เหล่านี้ไม่อาจเอามาแยกแยะเป็นปัญหาให้เด็กพินิจพิเคราะห์แก้ปัญหาได้ และเรื่องวิธีการสอนแบบ Learning by doing ก็เช่นเดียวกัน ไม่ควรนำมาใช้กับเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ทั่วไป เพราะวิธีนี้เหมาะสมกับบางสถานการณ์ บางบุคคลท่านั้น เป็นต้นว่า เด็กจะเรียนรู้หรือเน้นสิ่งที่น่าคิด ถ้าจะให้ทำเพื่อความเข้าใจก็พอจะทำได้ แต่ถ้าจะให้ทำเพื่อให้ได้แก่นสารสาระในเนื้อหาวิชาแล้ว เป็นการสอนที่ไม่ถูก ดังนั้นเนื้อหาที่เป็นสาระ ครูต้องสอนให้เลย และให้เด็กจดจำเป็นดีที่สุด การสอนโดยยึดทฤษฎีนี้ ห้องเรียนมักจะมีลักษณะเหมือนห้องปาฐกถาโต๊ะเก้าอี้เคลื่อนย้ายไม่ได้นักเรียนต้องตั้งใจฟังครูซึ่งจะเป็นผู้บอกเนื้อหาวิชาให้
                 บทบาทของครูมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ฉะนั้นกระบวนการเรียนการสอนจะเป็นแบบ ครูเป็นศูนย์กลาง คือครูจะเป็นผู้อธิบาย ชี้แจงให้นักเรียนเข้าใจตามให้ได้ วิธีการสอนจะเป็นการสอนแบบบรรยาย หากจะใช้วิธีอื่นประกอบด้วยก็ได้ แต่ต้องถือหลักให้เด็กรู้และเข้าใจเป็นสำคัญ การถามตอบในห้องเรียนเป็นการถามตอบเพื่อทำความเข้าใจเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือโต้แย้ง แต่แม้จะเป็นการสอนในลักษณะของกระแสธารทางเดียวเช่นนี้ก็ตาม การเรียนการสอนก็ยังต้องเน้นการฝึกฝนและสร้างผู้นำในกลุ่มด้วย ผู้นำกลุ่มนี้จะเป็นผู้ซึ่งเรียนรู้และเข้าใจเนื้อหาดี มีระเบียบ วินัย ควบคุมและรักษาตนเองได้ดี
                 2. ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม กล่าวถึงวิธีการเรียนของผู้เรียนว่า ผู้เรียนเโดยธรรมชาตินั้นเป็นผู้ที่มีเหตุผล มีจิตใจบริสุทธิ์และมีแนวโน้มไปในทางที่ดี มีสติปัญญาและมีศักยภาพในตัวเองอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างเต็มที่ การที่จะให้เกิดการพัฒนาขึ้นนั้นผู้เรียนจะต้องฝึกคุณสมบัติที่มีอยู่แล้วด้วยตนเอง โดยการสอนและการแนะนำจากครู บทบาทที่สำคัญในการเล่าเรียนจะต้องอยู่ที่นักเรียนเอง ไม่ใช่อยู่ที่ครู นักเรียนจะต้องแสดงเหตุผล แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักเรียนเองหรือกับครู และบทบาทของผู้เรียนควรเป็นผู้รับความรู้มากกว่าจะมีหน้าที่ในการแสวงหาด้วยตนเอง เพราะผู้เรียนอาจไม่มีความรู้และประสบการณ์ที่เพียงพอ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการได้รับความรู้ที่ผิดพลาดได้ สรุปคือผู้เรียนควรเป็นผู้รับการฝึกตามแนวทางของผู้สอน ยึดถือผู้สอนเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติ และในด้านผู้สอนได้กล่าวว่า ผู้สอนตามทฤษฎีนี้จะต้องเป็นผู้รู้และเป็นผู้นำทางสติปัญญาแก่ผู้เรียน ต้องถือว่าผู้เรียนเป็นผู้มีเหตุผลและความดีอยู่ในตัวเอง ดังนั้นผู้สอนจึงต้องสร้างบรรยากาศเพื่อให้นักเรียนได้คิดหาเหตุผลและพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม โดยการเสนอความรู้ข้อคิดให้ผู้เรียนถกเถียง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ผู้สอนยังมีหน้าที่ดูแลรักษาความเป็นระเบียบ วินัย ควบคุมความประพฤติของผู้เรียนไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ให้นักเรียนได้ใช้สติปัญญาไปในทางที่ถูกที่ควร ไม่ใช่ผู้ป้อนความรู้ให้กับนักเรียนโดยตรง แต่ครูเป็นผู้เสนอความรู้ ความคิด เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้และพัฒนาความคิด สติปัญญา บทบาทของผู้สอนตามทฤษฎีการศึกษานี้กล่าวได้ว่า ประการที่หนึ่ง ครูเป็นผู้นำทางสติปัญญา ประการที่สองครูเป็นผู้นำทางวิญญาณ เป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติที่ดีงามและประการสุดท้ายครูเป็นผู้แนะนำควบคุมวินัยทางความคิดและความประพฤติของนักเรียน
                    3. ปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม ได้กล่าวถึงตัวครู นักเรียนและโรงเรียนไว้ดังนี้ ครูในปรัชญาสาขานี้ ทำหน้าที่คือการเตรียม การแนะนำ และการให้คำปรึกษาเป็นหลักสำคัญ ครูอาจจะเป็นผู้รู้ แต่ไม่ควรไปกำหนดหรือกะเกณฑ์ให้เด็กทำตามอย่าง หรือควรเป็นผู้สนับสนุนให้เด็กได้เรียนรู้ เข้าใจ และเห็นจริงด้วยตัวเอง ลักษณะครูตามสาขานี้จะต้องมีบุคลิกภาพดี เห็นอกเห็นใจและเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็ก รู้จักดัดแปลงและปรับปรุงสภาพห้องเรียนให้เหมาะสมกับลักษณะของนักเรียนและกิจกรรมในห้องเรียน ครูจะต้องเป็นผู้วางแผน ประสานงานให้เด็กสนใจและร่วมมือกันทำงานมากกว่าครูทำเสียเอง อย่างไรก็ตามครูก็ยังมีความรับผิดชอบและจะต้องดูแลความเรียบร้อย นักเรียน ปรัชญาสาขานี้ให้ความสำคัญกับตัวผู้เรียนมาก เพราะถือว่าการเรียนรู้นั้นจะเกิดได้ดีก็ต่อเมื่อ ผู้เรียนได้ประสบการณ์ตรงหรือลงมือทำด้วยตนเอง ดังนั้นผู้เรียนจึงมีอิสระที่จะเลือกตัดสินใจด้วยตนเองมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และมีส่วนที่จะเลือกเนื้อหาและกิจกรรมที่ตนเองสนใจได้มากแต่ไม่ได้หมายความว่า นักเรียนจะร่างหลักสูตรหรือกำหนดกิจกรรมเสียเอง แต่เป็นการทำงานร่วมกัน เพื่อให้การเรียนการสอนตรงตามความต้องการของผู้เรียนเหมาะสมกับความต้องการและความสามารถของนักเรียนมากขึ้น ในด้านกระบวนการเรียนการสอน กระบวนการเรียนการสอนตามปรัชญานี้ถือหลักว่า ผู้เรียนควรมีบทบาทด้วยตนเองมากที่สุด การเรียนควรเป็นเรื่องของการกระทำ มากกว่ารู้ เด็กจะต้องกระตือรือร้นในการเรียนมากกว่าคอยรับ หรืออยู่เฉย ๆ ครูจะเป็นผู้จัดประสบการณ์เรียนรู้ให้ผู้เรียน ให้ผู้เรียนได้รู้จักที่จะแก้ไขปัญหาของตนเองและของสังคม ด้าน กระบวนการบริหาร การบริหารปรัชญานี้ ถือหลักเดียวกับการเรียนการสอน คือการร่วมมือกัน โรงเรียนจะมีคณะกรรมการโรงเรียน ซึ่งประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่ายมาร่วมกัน ปรึกษาวางนโยบายและตัดสินปัญหาต่าง ๆ ของโรงเรียน ผู้บริหารจะเป็นผู้ดำเนินงานไปตามข้อตกลงหรือตามมติของคณะกรรมการ ด้านบทบาทของโรงเรียนต่อชุมชน ตามความเชื่อของปรัชญาสาขานี้ การศึกษาเป็นวิธีการหลักในการปฏิรูปหรือปรับปรุงสังคม แต่จะปรับปรุงหรือปฏิรูปไปในลักษณะไหนอย่างไรนั้น ก่อนอื่นโรงเรียนจะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชุมชนเสียก่อน ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวัฒนธรรม โรงเรียนไม่ควรจะปลีกตัวออกจากสังคมเหมือนปรัชญากลุ่มอนุรักษ์นิยม เมื่อโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแล้ว โรงเรียนก็จะมีโอกาสสร้างนักเรียนในลักษณะใหม่ที่มีสติปัญญา มีความพร้อม มีความรู้และเข้าใจสังคม อย่างดีพร้อมออกไปปรับปรุงและพัฒนาสังคมได้
                        4. ปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม ได้กล่าวถึง ครู นักเรียน กระบวนการเรียนการสอน และการบริหารโรงเรียนไว้ดังนี้ ครู ในปรัชญาสาขานี้ ครูจะต้องเป็นนักบุกเบิก เป็นนักแก้ปัญหา สนใจและใฝ่รู้ในเรื่องของสังคมและปัญหาสังคม อย่างกว้างขวางและเอาจริงเอาจัง ในขณะเดียวกันก็จะต้องสนใจในวิชาการควบคู่กันไป ครูจะต้องมีทักษะในการรวบรวม สรุป และวิเคราะห์ปัญหา (วิจัย) ให้ผู้เรียนเห็นได้ ในขณะเดียวกันก็แนะนำให้ผู้เรียนรู้จักที่จะศึกษาทำความเข้าใจในเรื่องของสังคมรอบตัวได้ ลักษณะสำคัญของครูในปรัชญานี้อีกประการหนึ่งก็คือ มีความเป็นประชาธิปไตย ครูไม่ใช่ผู้รู้คนเดียว ไม่ใช่ผู้ชี้ทางแต่เพียงคนเดียว แต่ควรให้ทุกคนมีส่วนร่วมกันพิจารณาเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ และจะต้องเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ทัศนะและหลักการ ถ้าพบว่าสภาพการณ์ต่าง ๆ นั้นไม่ได้เป็นไปตามที่เราคิดหรือเข้าใจ นักเรียนในปรัชญากลุ่มนี้นักเรียนจะเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตัวน้อยลง แต่จะเห็นประโยชน์ของสังคมมากขึ้น เด็กจะได้รับการปลูกฝังให้ตระหนักในคุณค่าของสังคม เรียนรู้วิธีทำงานร่วมกัน เพื่อเป้าหมายในการแก้ปัญหาของสังคมในอนาคต นักเรียนจะได้รับการฝึกฝนให้รู้จักเทคนิคและวิธีการต่าง ๆ ที่จะทำความเข้าใจและ แก้ปัญหาของสังคม แต่จะต้องเป็นการแก้ปัญหาในแนวทางของประชาธิปไตย นักเรียนควรจะได้เรียนรู้และรับทราบถึงข้อมูลต่าง ๆ อย่างละเอียดและเปิดเผยตรงไปตรงมา ไม่ใช่การโฆษณาชวนเชื่อ ไม่ว่าเด็กจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม และควรจะได้หาข้อสรุปอันเป็นทางเลือกที่เหมาะสมและยุติธรรม
ในด้านกระบวนการเรียนการสอน มีลักษณะคล้ายคลึงกับปรัชญาพิพัฒนาการนิยม คือ ให้เด็กรู้ด้วยตัวเอง ลงมือทำเอง มองเห็นปัญหา และเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ด้วยตนเองวิธีการทางวิทยาศาสตร์ วิธีการของโครงการ วิธีการแก้ปัญหา วิธีการเหล่านี้ปรัชญาปฏิรูปนิยมใช้มากเช่นกัน แต่ในขณะเดียวกันปรัชญากลุ่มนี้ก็ยังอาศัยวิธีการของประวัติศาสตร์ และวิธีการปรัชญา ประกอบด้วยกันไปเพื่อให้การศึกษาปัญหาต่าง ๆ เป็นไปอย่างกว้างขวางรัดกุม ถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุด
สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ของกระบวนการเรียนการสอนตามปรัชญาสาขานี้ คือทฤษฎีและปฏิบัติจะควบคู่กันไปในกรณีที่การปฏิบัติจริงกระทำไม่ได้ก็จะใช้บทบาทสมมุติแทน แต่เป้าหมายปลายทางจะต้องคำนึงถึงการนำความรู้ไปใช้ได้ด้วย
                สำหรับกระบวนการบริหาร กระบวนการบริหารก็จะต้องยึดหลักของการบริหารแบบประชาธิปไตยเป็นหลัก การบริหารการศึกษาจะต้องกระจายอำนาจ ไปอย่างแท้จริงให้ ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ เพราะการปฏิรูปสังคมแต่ละกลุ่มนั้นคนที่อยู่ในสังคมนั้นเขาจะรู้เรื่องดีที่สุด การบริหารโรงเรียนก็จะต้องเป็นประชาธิปไตยเช่นกัน โดยครู ผู้ปกครอง และนักเรียนจะต้องมีบทบาทในการวางแผนและดำเนินการโรงเรียนให้มากที่สุด เป้าหมายของโรงเรียนนี้ก็คือ โรงเรียนชุมชนที่แท้ที่ชุมชนมีบาบาทอย่างจริงจังสมบูรณ์ ส่วนบทบาทของโรงเรียนต่อชุมชน โรงเรียนตามปรัชญาสาขานี้จากที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า เป็นปรัชญาใหม่และเป็นปรัชญาเดียวที่มีบทบาทจริงจังต่อสังคม มีส่วนในการรับรู้ปัญหาของสังคม ร่วมกันแก้ปัญหาของสังคมและส่งเสริมสนับสนุน รวมทั้งสร้างสังคมใหม่ที่เหมาะสม เป็นธรรม และเป็นประชาธิปไตย
               5. ปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยม ได้กล่าวถึง ครู นักเรียน กระบวนการเรียนการสอน และโรงเรียนไว้ว่า ครูมีหน้าที่เป็นเพียงคอยกระตุ้นหรือเร้าให้นักเรียนรู้จักตนเองให้สามารถหยิบยกความถนัดและความสามารถเฉพาะคนออกมาให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด จะต้องให้เสรีภาพแก่นักเรียน ต้องระลึกเสมอว่าผู้เรียนเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในกระบวนการศึกษา จึงต้องให้ความสนใจต่อผู้เรียนอย่างเต็มที่ สอนเพื่อพัฒนานักเรียนอย่างรอบด้าน ในด้านผู้เรียน การฝึกให้เด็กรู้จักตนเอง สนใจตนเอง และเลือกทางเลือกของตนเองนั้น ย่อมจะไม่ขัดกับเรื่องความสนใจในบุคคลอื่น เพราะปรัชญานี้ถือเป็นหลักอยู่แล้วว่า สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเองนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบุคคลอื่นด้วย สิ่งที่ตนเลือกย่อมหมายถึงว่าได้เลือกสำหรับคนอื่นด้วย
ในด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอน สนับสนุนและส่งเสริมให้นักเรียนแต่ละคนมีพัฒนาการในด้านความเป็นตัวของตัวเอง คือให้นักเรียนมีโอกาสเลือกโดยอิสระ นักปรัชญากลุ่มนี้เชื่อว่า การเรียนเป็นกลุ่มเป็นสิ่งที่ทำให้คุณภาพทางศีลธรรมจรรยาสูญเสียไป ดังนั้น โรงเรียนที่มีความเชื่อตามลัทธินี้ นักเรียนจะทำงานร่วมกับครูเป็นรายบุคคล วิธีสอนเน้นหนักไปในทางกระตุ้นให้นักเรียนเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด
                 ส่วนโรงเรียน ผู้เรียนคือผู้ที่สำคัญที่สุดในกระบวนการของการศึกษา ครูและวิชาความรู้มีความสำคัญเหมือนกัน แต่ไม่สำคัญเท่ากับการมีอยู่ของนักเรียนแต่ละคน ต้องการให้ผู้เรียนเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการศึกษาเสียใหม่ โดยเลิกเน้นว่าผู้เรียนทุกคนต้องประสบความสำเร็จ ต้องฉลาด ต้องมีความสุข ต้องปรับตัวได้ และเป็นที่ยอมรับของสังคม สิ่งเหล่านี้ถือเป็นค่านิยมที่ทำลายความเป็นตัวเองของนักเรียน ทำไมโรงเรียนไม่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนตัดสินใจเรื่องการมีอยู่ของเขาเอง เพราะถ้าโรงเรียนปลูกฝังค่านิยมของสังคมปัจจุบันแล้ว จะไม่มีโอกาสพัฒนาความเป็นมนุษย์ของตนเองได้ โรงเรียนต้องมีนักเรียนรู้จักตนเอง พัฒนาลักษณะเด่นของตัวเอง โดยการส่งเสริมการตัดสินใจเลือกเสรี จุดมุ่งหมายใหญ่ของการไปโรงเรียน คือเพื่อรู้จักตัวเองและจุดมุ่งหมายของชีวิต โรงเรียนจึงต้องสร้างบรรยากาศแห่งเสรีภาพทั้งในและนอกห้องเรียน ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกแนวทางจริยธรรมของตนเอง โรงเรียนควรเน้นเรื่องศีลธรรมและจริยธรรม คือสอนให้เด็กมีทั้งความสามารถและความโน้มเอียงในการเลือกแนวทางจริยธรรมของตนเอง (Moral Choice) ก็จะเป็นการพัฒนาความสามารถ(ability)และความโน้มเอียง(inclination)ของเด็ก แต่ไม่ใช่อบรมศีลธรรม ซึ่งเป็นการสร้างและกำหนดเงื่อนไขที่จะให้เด็กปฏิบัติตามและเด็กจะขาดเสรีภาพในการเลือก
                  6. พุทธปรัชญา ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถคิดเป็นตลอดจนมีความรับผิดชอบและสมรรถภาพทั้งปวง อันจะเป็นเครื่องมือในการดับทุกข์หรือแก้ปัญหาและปรับปรุงสภาพของสังคมและตัวมนุษย์เอง โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
จำหน่ายเอกสารแนวข้อสอบรับราชการ   085-0127724
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

กรุณาใช้ข้อความที่สุภาพ คุณสามารถบันทึกฉบับร่างได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้